รศ.วันทนา จันทพันธ์ อดีตอนุกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ วุฒิสภา
"คนทั่วโลกได้เห็นพฤติกรรมเหล่านี้จากสื่อต่างๆเพียงชั่วข้ามคืน "อารมณ์กลับขั้ว"จากบวกเป็นลบ และสับสน จากชื่นชมกลายเป็นการประณาม"
คนไทยผ่านความเศร้าโศกมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ช่วงเวลาของพระราชพิธี เกี่ยวกับพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จากวันเสด็จสวรรคต จนถึงวันส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยที่จัดได้อย่างสมพระเกียรตินั้น คนทั่วโลกได้เห็น "ความเป็นไทย" จนคนไทยรู้สึกภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ประเพณีตลอดจนศิลปวัฒนธรรม อันงดงามยากที่จะหาใดเปรียบ พระเมรุมาศที่วิจิตรตระการตาบรรจงสร้างด้วยใจของช่างศิลป์ไทยทั้งหมด จึงเป็นที่รวมใจของคนไทยทั้งชาติรัฐบาลประกาศให้บุคคลทั่วไปเข้าชมพระเมรุมาศได้ ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560 ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและความปลื้มปีติที่จะได้เข้าชมพระเมรุมาศ กลับต้องสะดุดลงเมื่อทราบข่าว ว่างดการให้เข้าชม ชั้นที่ 1 และ 2 ของพระเมรุมาศ ด้วยเหตุผลว่า หลังจากที่เปิดให้ชมวันแรกก็มีการหยิบฉวย ทำลายความงดงาม ถ่ายรูปด้วยท่าทีกิริยาที่ไม่เหมาะสม ยืนพิงลูกกรงบนระเบียงพระเมรุมาศ ใช้มือจับลูบคลำรูปปั้น ทำให้เกิดความเสียหาย คนทั่วโลกได้เห็นพฤติกรรมเหล่านี้จากสื่อต่างๆ เพียงชั่วข้ามคืน "อารมณ์กลับขั้ว" จากบวกเป็นลบและสับสน จากชื่นชมกลาย เป็นการประณาม นายกรัฐมนตรีถึงกับต้องพูดในรายการศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า "รัฐบาลจะจัดระเบียบประชาชนที่เข้าชมพระเมรุมาศ" โดยลดยอดผู้เข้าชมแต่ละรอบ และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแล พร้อมทั้งได้ขอร้องประชาชนว่าอย่าได้หยิบฉวยสิ่งของใดๆ ฟังแล้วน่าตกใจ และน่าอับอายที่เคยพูดว่า จะเป็นคนดีของแผ่นดิน จะทำความดีเพื่อพ่อไฉนจึงกลับคำได้ถึงเพียงนี้ สมควรแล้วที่คนไทยจะต้องถูกจัดระเบียบ และเลิกได้แล้วกับความคิดที่ว่า "ทำอะไรตามใจ คือไทยแท้" และ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" จนต้องมีป้ายประเภทหนึ่งที่ใช้เตือนสติติดไว้ตามที่ต่างๆ นับวันจะเยอะมากขึ้น เช่น "โปรดรักษาความสะอาด" "ห้ามทิ้งขยะ" "ปิดน้ำ ปิดไฟก่อนออกจากห้อง" "โปรดอย่าทำลายสิ่งของสาธารณะ" "โปรดทิ้งขยะลงถัง""ห้ามสูบบุหรี่" "ห้ามทิ้งผ้าอนามัยลงในโถส้วม" "ขึ้นลงชั้นเดียวโปรดใช้บันได"นี่เป็นตัวอย่าง ป้ายเหล่านี้คงจะเห็นกันคุ้นตา บ่งบอกให้รู้ว่า คนส่วนใหญ่ขาด "จิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness)" จึงต้องเขียนป้ายบอกเตือน อาจจะได้ผลบ้างสำหรับบางคน แต่จะไม่ได้ผลเลยสำหรับคนที่ขาดจิตสำนึกโดยสิ้นเชิงจึงต้องมีป้ายอีกอย่างหนึ่งว่า "ทิ้งจับ ปรับหนึ่งพัน""ฝ่าฝืนปรับห้าร้อย" แต่จะให้สะใจต้อง "ทั้งจำ ทั้งปรับ" บางแห่งเขียนว่า "ที่หมาเยี่ยว" ก็ยังแก้ไม่ได้ ยังมีคนไป "เยี่ยว" ก็เลยต้องเอาศาลพระภูมิไปตั้งทิ้งไว้ ก็ได้ผล คนไม่กล้าเยี่ยวใส่ศาลพระภูมิ แต่ก็น่าอนาถใจ เพราะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เกิดจากความกลัวในสิ่งลี้ลับมากกว่าเคารพกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน ที่แย่หนักก็คือ ไม่เกรงกลัวอันใด นึกแต่ว่า "ทำอะไรได้ตามใจ คือไทยแท้"และรับเอามาเป็นคำนิยามของลักษณะความเป็นไทย ซึ่งเป็นการหลงผิด จิตสำนึกสาธารณะนี้ต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยบุคคลในครอบครัวและครู ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการอบรมสั่งสอนและเป็นแบบอย่างที่ดี จิตสำนึก (Conscious) เป็นการตระหนักรู้ตัว หรือเป็นจิตส่วนที่รู้ตัว รู้ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร ขณะที่ตื่นอยู่ ส่วนคำว่าสาธารณะ (Public) เป็นการแสดงออกเพื่อสังคมส่วนรวม เป็นการบริการชุมชน ทำประโยชน์เพื่อสังคมถ้าเป็นสิ่งของก็ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันเมื่อนำสองคำมารวมกัน หมายถึง การตระหนักรู้ตัว ที่จะทำสิ่งใดเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มนุษย์เรามีความเห็นแก่ตัว (Selfish) ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปรียบเทียบให้เห็นคำสอนทางพระพุทธศาสนากับนักจิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่กล่าวว่า "Id" คือตัวกิเลสตัณหาอันมีมาแต่กำเนิด ส่วน "Ego" คือตัวอัตตา"Id" + "Ego" = กิเลส + อัตตา ทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัว อยากทำอะไรตามใจ ในส่วนนี้จะติดตัวไปจนวันตาย จึงจำเป็นต้องสร้างคุณธรรม จริยธรรม ที่เรียกว่า"Super Ego" ให้เกิดขึ้นเพื่อคอยควบคุมตัวอัตตา ถ้าเมื่อไรรู้สึกมีหิริโอตัปปะ (Guilty Feeling) คือ ละอายต่อความผิดบาปการสร้างเสริมให้มีจิตสำนึกสาธารณะก็ไม่ยาก แต่ที่ยากคือ ความไม่รู้สึกผิดในสิ่งที่ตนทำ และในสังคมมีคนประเภทนี้อยู่มาก ในด้านศาสนาจะช่วยสอนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ โรงเรียนสมัยก่อนนี้จะนิมนต์พระมาช่วยสอนศีลธรรม โดยยกเอานรก สวรรค์ ทำให้เกิดการกลัวบาปความกลัวเป็นขั้นแรกของการสร้างคุณธรรม และจริยธรรม การกลัวผิด กลัวบาป จะคอยกระตุ้นเตือนไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ดี กลัวตกนรก คำว่า "บวร" (บ้าน วัดโรงเรียน)น่าจะนำมาใช้อีกครั้งเพราะยังมีพระที่ดีอีกมาก ที่สามารถสอนเด็กให้มีคุณธรรม และจริยธรรม เริ่มใหม่ยังไม่สายเกินไป Start Up Thailand