หมอชี้ถังออกซิเจนไม่พอกระทบแผนตั้งศูนย์พักคอย ระบุการนำไปใช้เองเมื่อเริ่มป่วยโควิด อาจเป็นอันตรายกับเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้ถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไป รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ถึงปัญหาถังออกซิเจนว่า “...มีการขาดตลาดจากการแห่ซื้อไปตุน ทั้งถังออกซิเจนทางการแพทย์และเครื่องผลิตออกซิเจนสำหรับใช้ที่บ้าน ทำให้แผนการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดในชุมชนก่อนส่งต่อเข้าโรงพยาบาลเกิดความไม่สมบูรณ์ เพราะไม่สามารถให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงและร่างกายขาดออกซิเจน ในระหว่างที่รอเตรียมการย้ายเข้ารับการรักษาในรพ.หลัก การนำออกซิเจนไปใช้เมื่อเริ่มป่วยเป็นโควิด-19 โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และปราศจากการกำกับดูแลของแพทย์ อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อทั่วร่างกายถ้าได้รับออกซิเจนมากเกินไป ไม่นับเรื่องความสิ้นเปลืองและการเสี่ยงต่ออัคคีภัยถ้าใช้เป็นถังบรรจุออกซิเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำความกระจ่างให้กับประชาชน พร้อมตรวจสอบความเพียงพอของการผลิตและจัดส่งออกซิเจนในทุกพื้นที่ของประเทศ...” ขณะที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “จริงๆแล้ว เรามีเวลาเตรียมตัว นานนับปี แต่ความขาดแคลน วัคซีน เตียง อุปกรณ์การแพทย์ และ ออกซิเจน ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะเรา ประมาท และภูมิใจกับความสำเร็จการควบคุมโรคในช่วงแรก เลยไม่นึกว่า สถานการณ์มันจะเลวร้ายได้เพียงนี้ ประเทศเราไม่อาจรอดพ้นวิกฤตด้วยพระสยามเทวาธิราช แต่ด้วย รัฐบาลที่มีความสามารถเพียงพอในการวางแผนรับมือ แก้ไขวิกฤติการณ์”