เมื่อวันที่ 14 ก.ค. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์รับฟังความคิดเห็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ในธุรกิจการเงินและธนาคาร ในหัวข้อ “พลิกโฉมธุรกิจการเงินแห่งอนาคต ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจการเงิน หน่วยงานภาครัฐด้านอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนนักวิจัยทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจการเงินและธนาคาร ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ระบบอัตโนมัติ ระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เข้าร่วมประชุมรวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อรับฟังความคิดเห็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและธนาคาร และธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (FinTech)
ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. กล่าวว่า
สกสว. มีบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยมีหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ หรือ ที่เรียกว่า Strategic Agenda Team (SAT) ในประเด็นต่างๆ รวบรวมองค์ความรู้อย่างเช่น ประเด็นเรื่องดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดผลกระทบมากมาย
โดยธุรกิจการเงินและการธนาคาร เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยหนุนเสริมประสิทธิภาพด้านการบริการทางการเงิน 3 ด้านหลัก คือ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนในการบริการ 2) การเข้าถึงการบริการ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าในบางพื้นที่ หรือ บางกลุ่ม หรือ ในบางเวลา สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และยังเปิดโอกาสให้ SME เข้าถึงบริการเหล่านี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ธนาคารเองก็สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระหนี้ของร้านค้าได้อย่างแม่นยำ และ3) การเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การยืนยันตัวตน หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ในธุรกิจการเงิน การธนาคาร จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ด้าน ดร.พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สำนักดาต้าอนาไลติกส์ ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาททั้งในเชิงนโยบายรวมถึงการบริหารงานภายใน เพื่อเพิ่มผลผลิตจากการทำงาน โดยจะเห็นได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับประชาชนในแง่ของการเข้าถึงแหล่งทุน โดยประเด็นดังกล่าวสามารถนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในธุรกิจการเงิน แบ่งเป็น 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) ด้านการบริการลูกค้า ปัจจุบันสามารถนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการบริการตอบคำถามและให้บริการลูกค้า 2) วิเคราะห์สินเชื่อ ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการเงินแต่ละบุคคลซึ่งสามารถเข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ในการตัดสินใจพิจารณา 3) การลงทุน ปัญญาประดิษฐ์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนรูปแบบต่างๆ 4) การบริหารความเสี่ยง ปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจจับพฤติกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ ป้องกันพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดธรรมาภิบาล ลดค่าใช้จ่าย สร้างการเติบโต เป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ โดยบริบทในประเทศไทย ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเข้าช่วยเหลือในมิติทางด้านสังคมอีกด้วย ช่วยให้บุคคลเข้าถึงแหล่งทุนโดยการศึกษาข้อมูลเชิงพฤติกรรมทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสิทธิที่จะเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถวิเคราะห์การประกันภัยในรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละคน
นอกจากนี้ ในประเด็นเสวนายังมีการนำเสนอองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงินในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมประสิทธิภาพ ทั้งการขยายฐานลูกค้าและการลดต้นทุนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดย สกสว. จะนำข้อมูลที่ได้จากการเสวนาในวันนี้ไปประกอบการจัดทำแผนด้าน ววน. ของประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการพัฒนาธุรกิจธนาคารในประเทศไทยต่อไป