วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวซึ่งระบุว่า กสม. ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากห่วงปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ตามที่รัฐบาลจะนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 16 – 31 กรกฎาคม 2564 นั้น กสม.โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เสนอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยจะคลี่คลาย
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า กสม. เห็นถึงคุณค่าของการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตามจากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน รวมทั้งที่ได้เคยตรวจสอบกรณีดังกล่าว กสม. มีข้อเสนอเพื่อพิจารณาในประเด็นดังนี้
1. คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งในปัจจุบัน ยังปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหากรณีดังกล่าว อาทิ การโต้แย้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในพื้นที่ดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย
2. แม้ภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการจัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกย้ายออกจากพื้นที่ดั้งเดิมแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยยังประสบปัญหาในการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ได้รับการจัดสรรอย่างจำกัด ไม่ครบถ้วน และสภาพดินไม่สามารถทำกินได้อย่างเพียงพอ ต่อมาเมื่อประมาณต้นปี 2564 กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบางส่วนได้กลับเข้าไปทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม ทำให้ถูกจับกุมและเกิดข้อขัดแย้ง กระทั่งได้มีการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 67/2564 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2564 และมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ด้านขึ้นมา เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผลการดำเนินการและข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งถูกจับกุมกำลังถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย
3. กสม. ขอเสนอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เมื่อปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมแล้ว กสม. พร้อมที่จะสนับสนุนการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติต่อไป
“กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยมีลักษณะเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของตน รวมทั้งมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหนังสือสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามได้ให้การรับรองไว้” ประธาน กสม. กล่าว
ขณะที่ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ที่ปรึกษาอาวุโส องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น-IUCN) กล่าวถึงกรณีที่ กสม.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ชะลอการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกว่า ดีแล้วที่กสม.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรี่องของทุกคนและทุกฝ่ายที่ต้องแสดงความคิดเห็นได้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพวกเราที่ต้องช่วยกันรักษา เวลาเดียวกันวิถีชีวิตของชุมชนเราก็ต้องเคารพและให้ความสำคัญด้วย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ซึ่งไอยูซีเอ็นให้ความสำคัญเรื่องนี้ การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติ เราให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมากต้องไปด้วยกัน
ดร.จำเนียร กล่าวว่าคณะกรรมการมรดกโลกมี 2 คณะ คือระดับชาติที่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยประสาน และคณะกรรมการระดับสากลของยูเนสโก โดยในปีนี้ประเทศไทยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ทั้งนี้คณะกรรมการมรดกโลกของประเทศไทยพยายามดำเนินการตามกฎระเบียบที่วางไว้ แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลได้ตั้งคำถามหลายเรื่องที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตและดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของชุมชนและการมีส่วนร่วมของภาคี ซึ่งหน่วยงานราชการไทยบอกว่าทำเต็มที่แล้ว แต่ชุมชนบอกว่ายังไม่พอและไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเลย ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเห็นว่า หน่วยงานราชการยังทำไม่พอและต้องทำมากกว่านี้ และปัญหาค้างคาต้องได้รับการแก้ไขด้วย เช่น เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินซึ่งรัฐบาลบอกว่าจัดสรรให้ชาวบ้านเพียงพอแล้ว แต่ชาวบ้านบอกยังขาดแคลนอยู่ เช่นเดียวกับเรื่องของสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่บางกลอยบนก่อนย้ายลงมาด้านล่าง ชาวบ้านบอกว่าถูกบังคับให้ลงมาและกลับไปไม่ได้อีก ยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งทำให้ชีวิตพวกเขายิ่งลำบากจึงอยากกลับไปอยู่พื้นที่ดั้งเดิมหรืออย่างน้อยก็ได้กลับไปปลูกข้าว
“ปกติไอยูซีเอ็นได้ให้ความคิดเห็นล่วงหน้าไปยังคณะกรรมการมรดกโลกอย่างน้อย 1 เดือน ครั้งนี้เราส่งไปโดยให้ความเห็นให้เลื่อนการพิจารณาออกไป เพราะอยกขอให้เวลากับชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งกรณีที่ชาวบ้านต้องขึ้นศาล เราอยากให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้คลี่คลายกว่านี้ อยากให้เห็นสัญญาณชัดของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เร่งที่จะเสนอ เราเห็นใจรัฐบาลด้วยเช่นกัน เพราะเขาพยายามเต็มที่แต่มีข้อจำกัด” ดร.จำเนียร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้มีความสำคัญกับประเทศไทยแค่ไหน ดร.จำเนียรกล่าวว่า เห็นด้วยว่าแก่งกระจานมีความหลากหลายชีพภาพมากจริงๆ เมื่อเทียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นควรขึ้นทะเบียนมรดกโลกและควรได้รับการอนุรักษ์อย่างจริงจริงเพื่อเป็นเครื่องมือรักษาไว้ซึ่งความหลากหลาย โดยชุมชนมีส่วนร่วมรักษาความหลากหลายและการออกแบบการมีส่วนร่วมโดยต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย แต่ครั้งนี้ตัวแปรของการมีส่วนร่วมไม่ได้มีการหารือกันอย่างจริงจริง รัฐบาลบอกว่าชาวบ้านได้เซ็นชื่อและได้หารือแล้ว แต่ชาวบ้านบอกว่ายังไม่รู้เรื่องเลยว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร หรือเขาจะได้รับผลจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกอย่างไร ถ้าเราได้ฟังกันหน่อยก็จะดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลถอนตัวจากการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกและลาออกจากสมาชิกไอยูซีเอ็น จะมีผลอย่างไรหรือไม่ ดร.จำเนียรกล่าวว่า ไม่ดีกับทุกฝ่ายเพราะสังคมโลกกำลังมองอยู่ โดยไอยูซีเอ็นเป็นองค์กรกลางที่จะได้มาซึ่งมรดกโลกอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ตนพูดเสมอว่าไอยูซีเอ็นไม่ใช่เซลล์แมน ดังนั้นการได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องมีศักดิ์ศรีซึ่งหมายถึงความภูมิใจของทุกฝ่าย
“พวกเราพยายามเป็นกลางบนข้อเท็จจริงมากสุด พวกเราไม่เข้าข้างใคร พิจารณาตามไปตามข้อเท็จจริง บางเรื่องที่ไอยูซีเอ็นใหญ่ถามมาก็ตอบไป แต่บางครั้งเขาก็มีคณะทำงานต่างหาก เขาไปสืบข้อเท็จจริงหรือฟังหน่วยงานต่างๆ เอง ไอยูซีเอ็นทำงานมา 74 ปีและเป็นองค์กรใหญ่ที่ฟังเสียงจากทุกฝ่าย เรามี 80 ประเทศ เราให้ความสำคัญมากเรื่องฟังเสียงของสมาชิก” ดร.จำเนียร กล่าว
วันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีองค์ได้พิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอของ ทส.ในเรื่ององค์ประกอบและท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 โดยมีเนื้อหาว่า การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน หากคณะผู้แทนไทยเห็นว่า(ร่าง) ข้อมติไม่มีผลดีต่อไทยในการนำเสนอพื้นที่ฯ เป็นแหล่งมรดกโลก เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทย ชี้แจงทำความเข้าใจและโน้มน้าว คณะกรรมการมรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา และศูนย์มรดกโลก เกี่ยวกับสถานการณ์ และวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และสนับสนุนราชอาณาจักรไทยในการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก รวมทั้ง ขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในอนาคต
สำหรับองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ประกอบด้วย 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษา 2. นายสีหศักดิ์ พวงเหตุแก้ว ทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการมรดกโลกและหัวหน้าคณะผู้แทนไทย 3. ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการดำรงตำแหน่งกรรมการมรดกโลก วาระปี พ.ศ. 2562 – 2566