กนอ.จัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการนัดสุดท้าย ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตามข้อกำหนดของ EHIA ที่ให้มีการทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนเริ่มดำเนินงาน!
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มอบหมายให้นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ กนอ.เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในเดือนนี้ ซึ่งเป็นไปตามกำหนดเดิมที่ตั้งไว้ โดยการประชาสัมพันธ์โครงการเป็นไปตามข้อกำหนดของรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (รายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงาน EHIA (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ที่ให้มีการทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนเริ่มดำเนินงาน
โดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน ผู้แทนชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลตำบลบ้านฉาง เทศบาลเมืองบ้านฉาง เทศบาลตำบลเนินพระ ผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากสถานประกอบการข้างเคียง ผู้แทนบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด รวมทั้งสื่อมวลชนท้องถิ่น
นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างการตระหนักรู้และชี้แจงรายละเอียดของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงาน EHIA จะต้องมีการชี้แจงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากในระยะที่กำลังมีการก่อสร้าง และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยโครงการฯจะเริ่มการก่อสร้างตามแผนการดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้ โดยจะเริ่มจากองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาโครงการ ได้แก่ งานก่อสร้างสำนักงานก่อสร้างโครงการ งานก่อสร้างท่าเทียบเรือชั่วคราว งานก่อสร้างเขื่อนกันทราย งานขุดลอกและถมพื้นที่หลังท่า งานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น งานรื้อถอนท่าเทียบเรือชั่วคราว งานระบบสาธารณูปโภค งานอุปกรณ์เดินเรือ และชี้แจงแผนการดำเนินการก่อสร้างโครงการ การประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน มาตรการป้องกัน การแก้ไข และมาตรการกระทบสิ่งแวดล้อมที่โครงการต้องนำไปปฏิบัติ
ขณะเดียวกันยังรวมทั้งมีการชี้แจงถึงที่มาของแหล่งเงินสมทบเข้ากองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน และกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถช่วยเหลือชุมชนในทุกด้านไปพร้อมๆกัน ทั้งในรูปแบบของวงเงิน และสิ่งของ ได้แก่ การเยียวยา การพัฒนาอาชีพ และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สอบถามถึงข้อกังวลในด้านต่างๆ ซึ่งทาง กนอ.และเอกชนคู่สัญญา รับที่จะพิจารณาในส่วนของรายละเอียดต่างๆอีกครั้ง เพื่อให้ครอบคลุม และเป็นไปตามที่ EHIA ได้กำหนดไว้
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้เข้าร่วมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ รองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือและพื้นที่หลังท่าในอนาคต 550 ไร่ และเป็นพื้นที่เก็บกักตะกอนดิน 450 ไร่
โดยท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย เป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย โดยปัจจุบันมีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ