นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน FTA ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 25 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาข้าว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียง ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น วงเงิน 9.404 ล้านบาท มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2564 - 2571) เพื่อพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ได้แก่ พันธุ์ กข.6 และพันธุ์หอมมะลิ 105 นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวขยายชุมชน และเมล็ดพันธุ์ข้าวหลักชุมชน โดยจำหน่ายให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เครือข่ายขบวนการสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และศูนย์ข้าวชุมชนและแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นข้าวสารบรรจุถุง โดยจะร่วมกับกรมการข้าวในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวตามระบบ GAP Seed และการบริหารจัดการระบบควบคุมภายใน (Internal Control System: ICS) การตรวจวิเคราะห์เมล็ดพันธุ์ข้าว 5 ขั้นตอน รวมถึงการตรวจรับรองแปลงนา 3 ปี ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น
และ 2. โครงการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/NOP ด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ วงเงิน 15.598 ล้านบาท มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2564 – 2567) โดยมีทีมที่ปรึกษาให้ความรู้คำแนะนำ แก้ไขปัญหา และกำกับดูแลตั้งแต่พื้นฐานกระบวนการผลิตให้ได้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ ที่มีมาตรฐาน ตามข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล โดยปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) เป็นการผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลเพื่อการส่งออก และมีตลาดรับซื้อล่วงหน้าที่แน่นอน รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่แปลงนาอินทรีย์ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวอินทรีย์
“ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งในเรื่องของการมีศักยภาพ การแข่งขัน เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน รวมทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคง จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และผลผลิตจากข้าว นอกจากนี้ เกษตรกรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกข้าวตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์สากล ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออก เพิ่มช่องทางการประสานงานระหว่างภาคีภาครัฐและกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สศก. กล่าว
ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรไทยประกอบอาชีพทำนาประมาณ 3.7 ล้านคน พื้นที่ปลูกข้าว รวม 80.67 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นาปี 64.57 ล้านไร่ (ร้อยละ 80) และพื้นที่นาปรัง 16.10 ล้านไร่ (ร้อยละ 20) ผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 453 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่ผลผลิตข้าวเฉลี่ยในประเทศอาเซียนอื่น ๆ อยู่ที่ 638 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และในแต่ละปีมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 6 แสนตัน แต่เมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังได้คุณภาพไม่ดีพอ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งเป้าหมายสำคัญของ 2 โครงการเพื่อพัฒนาข้าวในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement : AFTA) เนื่องจาก ข้าว นับเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางด้านราคา ผลผลิต โดยประเทศไทย ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศ เพื่อนบ้านในอาเซียน นอกจากนี้ ข้าว ยังเป็นสินค้าเกษตรที่อยู่ในกลุ่มกำหนดโควตาภาษี (TRQ) อีกด้วย
“ข้าว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยมาอย่างยาวนาน และจากความตกลงทางการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Area : AFTA) ทำให้ประเทศไทยได้เปิดตลาดข้าวโดยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ประเทศคู่แข่งในการผลิตข้าวที่สำคัญ เช่น เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา จึงมีแนวโน้มที่จะส่งออกข้าวและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงควรผลิตสินค้าข้าว ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่กลุ่มผู้บริโภคให้ความสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่ง สศก. โดยกองทุน FTA เรามีความพร้อมและให้การสนับสนุนเงินทุน ให้คำปรึกษา สำหรับนำไปพัฒนาศักยภาพ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า และเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทยอย่างเต็มที่” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
++++++++++++++