จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด และยกระดับมาตรการควบคุมโรครวม 10 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง ส่งผลให้มีชาวพิจิตรโดยเฉพาะชาวบ้านจากอำเภอบึงนารางที่ไปทำงานก่อสร้างและรับจ้างในพื้นที่ดังกล่าว ต่างเหมือนผึ้งแตกรังแห่เดินทางกลับบ้านพร้อมทั้งติดเชื้อโควิดนำติดตัวมาด้วย ล่าสุดผู้นำชุมชนเตรียมพร้อมรับมือลงขันเรี่ยไรเงินจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-อบต. คนละ 200 บาท ส่วน สจ. และ นายก อบต.คนละ 5,000 บาท ได้เงินรวม 8 หมื่นกว่าบาท ดำเนินการสร้างเพิงพักผู้ป่วย ลักษณะเหมือนบ้านพักคนงานก่อสร้างเห็นแล้วน่าเวทนา
วันเสาร์ที่ 10 ก.ค.64 นายจักรัตน์ จันทโรทัย สจ.เขต อ.บึงนาราง , นายวันเส็ง จูพัฒนากุล สจ.เขต อ.บึงนาราง , นายประเสริฐ อินอ้าย สาธารณสุขอำเภอบึงนาราง , นายบุญส่ง ฉิมคง กำนันตำบลบึงนาราง ได้เป็นแกนนำพาชาวบ้านมาช่วยกันก่อสร้างเพิงพักผู้ป่วยที่บริเวณด้านหลังของโรงพยาบาลบึงนาราง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีตึกผู้ป่วยใน มี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล 1 คน บริหาร รพ.บึงนารางและ รพ.โพทะเล มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรรวมถึงพยาบาลรวม 15 คน
โดยผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นได้ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ชาวบ้านของอำเภอบึงนาราง ที่ไปทำงานรับเหมาก่อสร้างและอาชีพรับจ้างในสถานประกอบการในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึงจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมที่มีการประกาศล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ร้านค้า ต้องหยุดกิจการเพื่อหยุดการแพร่เชื้อโควิด
จึงส่งผลให้ชาวบ้านจากอำเภอบึงนารางเริ่มทยอยแห่กลับบ้านวันละหลายสิบคน โดยแต่ละวันในรอบ 7 วันที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว 27 คน และแนวโน้มจะยังคงมีเพิ่มขึ้นอีกรวมถึงมีกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องตรวจหาเชื้อและกักตัว 14 วัน มีอีกเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย ทำให้สถานที่กักตัวและโรงพยาบาลสนามมีไม่เพียงพอ ดังนั้นกลุ่มผู้นำจึงต้องหาวิธีดูแลลูกบ้านของตนเองจึงได้ร่วมกันลงขันเรี่ยไรเงินจาก กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-อบต.คนละ200บาท ส่วน สจ. และ นายก อบต.คนละ 5,000 บาท ได้เงินรวม 8 หมื่นกว่าบาท ลงมือดำเนินการสร้างเพิงพักผู้ป่วยที่มีลักษณะอาคารเหมือนบ้านพักคนงานก่อสร้าง เสาเป็นไม้ยูคา หลังคามุงสังกะสี พื้นเป็นไม้อัดให้พอใช้ได้กันแดดกันฝน ซึ่งไม่มีงบของทางราชการมาสนับสนุนแต่อย่างใด
ในส่วนของโรงพยาบาลบึงนารางวันนี้ก็ต้องเปิดรับผู้ป่วยโควิดที่มานั่งรอขอเตียงเพื่อรักษาตัวจำนวน 6 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยมีผลยืนยันมาจากกรุงเทพฯ และพื้นที่เสี่ยงสูง ซึ่งต้องรอแพทย์ตรวจวินิจฉัยและส่งต่อไปเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายตามลักษณะอาการต่อไป
นอกจากนี้แพทย์ของ รพ.บึงนารางก็ต้องทำการ Swab ผู้ที่เดินทางกลับมาบ้านอีกจำนวน 30-40 คน ในแต่ละวันทำให้สถานที่และบุคลากรที่จะบริการผู้ป่วยเป็นไปด้วยความอัตคัตขัดสน จึงอยากให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่หาวิธีสนับสนุนโรงพยาบาลบึงนาราง ซึ่งตอนนี้เปรียบเสมือนด่านหน้าของผู้ที่เดินทางกลับบ้านในช่วงวิกฤตล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ดังกล่าวอีกด้วย