วันที่ 9 ก.ค.64ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศบค. แถลงว่า สำหรับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กทม.และปริมณฑล มี 3 มาตรการคือ
1.กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล เร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ อย่างเพียงพอ โดยมีการเพิ่มสถานที่คัดกรอง เร่งเปิดจุดตรวจหาเชื้อให้ประชาชนเข้าถึงเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ยังตกค้างในชุมชน และแยกประชาชนที่ติดเชื้อออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด
2. ให้กระทรวงสาธารณสุขปรับแผนการกระจายวัคซีน และเร่งการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงกลุ่มผู้สูงอายุ เกิน 60 ปี และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค โดยเร่งรัดในพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยจะมีการฉีดให้ได้ 1 ล้านโดสภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ มีความเห็นชอบในการจัดสรรวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศทั้งไฟเซอร์ และแอสตราเซเนกา
โดยหลักการจัดสรรมุ่งเน้นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีและ 7 กลุ่มโรค รวมถึงชาวต่างชาติที่มีอายุเกิน 60 ปี และมีโรคประจำตัวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และผู้จำเป็นที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักกีฬา นักการทูต
ทั้งนี้ที่ประชุมเน้นย้ำให้มีการจ่ายวัคซีนไฟเซอร์เป็นบูสเตอร์โดส ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุดด้วย
3.กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกทม.และปริมณฑลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความสามารถในการรักษาพยาบาลให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เร่งรัดการจัดตั้งไอซียูสนาม และระบบการแยกกักแบบการแยกกัก ที่บ้าน (HI : Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (CI : Community Isolation) รวมทั้งการใช้ ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจรมาเสริมเพิ่มมาตรการรักษาพยาบาล
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุมจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ก.ค.นี้
“อย่างไรก็ตามคงต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนที่เข้าใจและให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ มาโดยตลอด และขออภัยกับการติดขัดที่อาจจะทำให้การดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดอาจจะมีความยากลำบาก แต่ทั้งหมดนี้เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประเทศไทยต้องชนะไปด้วยกัน” พญ.อภิสมัย กล่าว