เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่อาจจะมีมาตรการการล็อกดาวน์หลังจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่หลีกเลี่ยงได้ ในแง่เรื่องที่ถูกต้องคือเป็นเรื่องที่ควรพิจารณากัน ตัวเลขหลายๆ อย่างฟ้องว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะไปต่อไม่ไหว และมีโอกาสที่จะต้องบีบบังคับให้บุคลากรทางสาธารณสุขและทางการแพทย์ต้องเลือกว่าจะรักษาใครหรือไม่รักษาใคร นอกจากตัวเลขที่สื่อมวลชนรายงานเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตัวเลขนิวไฮของผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิต รวมถึงอัตราว่างของห้องพักแต่ละห้องในโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดี นายพิธา กล่าวว่า ตัวเลขที่ตนมอนิเตอร์มาตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาคือตัวเลขสุทธิผู้เข้า-ออกโรงพยาบาล ซึ่งติดลบมาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน จนถึงปัจจุบัน จำนวน 2-3 พันคนมาตลอด ซึ่งตัวเลขนี้จะคอยบอกว่าความจำเป็นที่จะต้องมีการล็อกดาวน์น่าจะเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนที่พูดว่าหลีกเลี่ยงได้คือตั้งแต่เรื่องการจัดการวัคซีนที่พูดกันมาตั้งแต่เดือนมกราคมว่าจะต้องมีการจัดการความเสี่ยงและมีความหลากหลายในวัคซีน ไม่ใช่วัคซีนชนิดใดดีกว่าชนิดใดด้วยซ้ำ แต่เพื่อที่จะใช้ได้ถูกกลุ่ม เนื่องจากมีบุคคลมากมายหลายประเภทในประเทศไทยจึงต้องใช้วัคซีนที่แตกต่างกัน “สัปดาห์ที่แล้วก็มีการอภิปรายถึงการปรับเปลี่ยนวิธีในการตรวจ ซึ่งการตรวจมีหลายจุดประสงค์ ตรวจเพื่อสกรีน หรือตรวจเพื่อวินิจฉัย ประเทศไทยใช้ PCR ในการตรวจเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีข้อดีคือมีความแม่นยำมาก แต่ต้องใช้เวลาในการรอผล ทั้งยังมีกฎหมายที่ค้ำคอว่าต้องเป็น PCR ถึงจะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และต้องเป็น PCR เท่านั้นถึงจะเข้าโรงพยาบาลได้ จึงเป็นปัญหาที่ทำให้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีคนเสียชีวิตเพราะไม่ได้เตียง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็เข้าห้องไอซียูเลย” นายพิธา กล่าว นายพิธา กล่าวอีกว่า จากที่ตนได้เคยเสนอไปในสภาว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ฟัง ขอคำเดียวให้ไปอยู่ในหูท่านคือ แอนติเจน เพื่อคัดกรองให้ผลออกมาได้ภายใน 15 นาทีแล้วมาวินิจฉัยต่ออีกครั้งด้วยวิธี PCR ซึ่งหากท่านทำเช่นนี้กับคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ตลาด หรือโรงงานที่เห็นชัดว่าเป็นคลัสเตอร์ ในการปูพรมตรวจแล้วใช้วิธีแอนติเจนเพื่อแยกปลาออกจากน้ำให้เร็วที่สุด ก็จะสามารถจัดการได้ วัคซีนก็ทำไม่ได้ บับเบิลแอนด์ซีลก็กลายเป็นบับเบิลแอนด์สเปรซในแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานและตลาดยังไม่ได้จัดการจนมาถึงตรงนี้ ตนคิดว่าอาจจะถึงจุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่เพิ่มเตียงไอซียูให้ทันก็อาจจะหมายถึงชีวิตคน นายพิธา กล่าวว่า ฉะนั้น คำถามตอนนี้อาจไม่ใช่แค่ควรที่จะล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ แต่จะล็อกดาวน์อย่างไรให้มีความหมายมากที่สุด ไม่ให้เสียของ และสั้นที่สุด นั่นหมายถึงต้องมีมาตรการในการเตรียมพร้อมเพื่อให้ล็อกดาวน์สั้น ปูพรมตรวจ จัดการให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงปัจจัยสี่ นอกจากนี้ยังต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้พุ่งสูง รวมถึงแผนในการเปิดเมืองด้วยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้โควิด-19 กลับมาลุกลามอีกครั้ง นายพิธา ยังกล่าวถึงวิธีการจัดการกับวัคซีน 1.5 ล้านโดสที่กำลังจะเข้ามาว่า สิ่งที่เรารู้คือมีทั้งหมด 80 ล้านโดส โดยในเฟสแรกทั่วโลกมี 25 ล้านโดส จัดสรรมาที่เอเชีย 7 ล้านโดส ซึ่งประเทศไทยมีรายชื่ออยู่ในนั้นด้วย แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือมีการเกลี่ยมาที่ประเทศไทยเท่าไหร่ และเวลาที่เข้ามาจะทันกับวิกฤตกับการกลายพันธุ์ของเดลต้า เดลต้าพลัส หรือสายพันธุ์ต่างๆ จะทันหรือไม่ นี่สิ่งที่ตนต้องยืนยันในฐานะบุคลากรทางการเมือง ที่เหลือต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่เป็นคนจัดการ