กรมชลประทาน พร้อมเก็บกักน้ำในทุกเขื่อน หลังกรมอุตุฯ คาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะทางภาคอีสาน ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งปัจจุบันพบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง (เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว) อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในระยะนี้ แต่ยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ย มั่นใจทุกเขื่อนยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก พร้อมเร่งดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากตลอดช่วงฤดูฝนนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดย กอนช. สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนีี้ กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำของแต่ละพื้นที่แม้ในช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมในภาวะวิกฤตนี้ ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ทุกโครงการตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานในอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดภาคอีสานตอนกลาง มีปริมาณฝนตกสะสมในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงปัจจุบัน สามารถวัดได้ 443.6 มิลลิเมตร (มม.) น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 15% ปัจจุบัน (7 ก.ค.64) ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 842.97 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การ 261.30 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 1588.33 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 102.5 ล้าน ลบ.ม.หรือ 63% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การ 65.28 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 61.25 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำเก็บกัก 678.90 ล้าน ลบ.ม.หรือ 34% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การ 578.9 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 1301.10 ล้าน ลบ.ม. จากสถานการณ์ดังกล่าวแม้ว่าจะมั่นใจได้ว่าในช่วงฤดูฝนนี้มีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วมน้อย แต่ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด พร้อมบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทำการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทาน และเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้พร้อมในจุดเสี่ยงต่างๆ และยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด