เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการกับแผนการของรัฐบาลในการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้โมเดล “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตแบบไม่ต้องกักตัว และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่าน ซึ่งงานนี้มีสายการบินในประเทศ และต่างประเทศ ทยอยขนนักท่องเที่ยวส่งจากพื้นที่ต่าง ๆ บินตรงมายังจังหวัดภูเก็ต สร้างสีสันเมืองท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง! โดยเที่ยวบินแรกเป็นของของสายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ EY 430 จากเมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาถึงท่าอากาศยานภูเก็ตเมื่อเวลา 11.00 น. มีผู้โดยสาร 25 คน ทางสนามบินได้จัดอุโมงค์น้ำ (Water Salute) ต้อนรับ ทั้งนี้ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการไ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาใน “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน นี้ จำนวน 1 แสนคน สร้างรายได้ 8,900 ล้านบาท และทั้งปีน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทุกช่องทางได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 3-4 ล้านคน ส่วนปีหน้าน่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากประเทศจีนเปิดให้ประชาชนเดินทางออกมาเที่ยวนอกประเทศได้ เช่นเดียวกับ “นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการ ททท. ด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา กล่าวว่า ความร่วมมือของคนภูเก็ตที่สื่อออกไปให้คนทั่วโลกเห็นถึงการ เตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และทุกคนกำลังจับจ้องมาที่ภูเก็ต เชื่อว่าถ้าทุกอย่างผ่านไปด้วยดี จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่น ในไตรมาส 4 "อยากขอความร่วมมือคนภูเก็ตทุกภาคส่วนให้ร่วมแรงร่วมใจกันในการดูแล ไม่ให้มีการละเมิดมาตรการต่างๆ ของจังหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ถ้าเราทำได้ การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะสามารถเดินต่อไปได้ และสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป จนถึงขณะนี้ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถก้าวผ่านไปได้ และประมาณการตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้คือ จนถึงสิ้นปีนี้จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย 3-4 ล้านคน ซึ่งเราจะต้องมุ่งไปสู่จุดนั้นให้ได้ แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ จะต้องอาศัยความร่วมใจของทุกภาคส่วน" นายพันธุ์ศักดิ์ เลียงพิบูลย์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นโครงการที่ดี นำร่องในการเปิดประเทศ หากไม่มีอุปสรรคเรื่องการประสานงานต่างๆ และสามารถคุมอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ มั่นใจว่าจะทำให้รัฐบาลสามารถเปิดตลาดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังในการใช้จ่ายสูง เช่น จีน, ฮ่องกง และไต้หวันได้ และหากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินหน้าไปได้ด้วยดี เชื่อว่าจะสามารถวางเป้าหมายไปในพื้นที่อื่นๆ ได้อีก แต่เมื่อถึงเวลานี้ แนวทางภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ แม้ว่าจะเป็นหนทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ในการสร้างเม็ดเงินในกับประเทศได้ และยังเป็นการจุดประกายความหวังที่รัฐบาลได้ประกาศที่จะเปิดประเทศในอีก 120 วันข้างหน้า หาก “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” สำเร็จ!! อย่างที่คาดหวัง! และล่าสุดจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยืนยันว่า “สมุย พลัส โมเดล” ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่ 3 เกาะ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ เนื่องจากประชากรทั้ง 3 เกาะ ซึ่งมีทั้งประชาชน ชาวต่างชาติ และกลุ่มแรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ได้รับการฉีดวัคซีนรวมกันแล้ว 89,000 คน จากจำนวนประชากรประมาณ 125,000 คน มีภูมิคุ้มกันหมู่ร้อยละ 71.4 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แต่ถึงกระนั้นการลุยเปิด “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ใช่ว่าจะราบลื่น กลับพบปัญหาจากการที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลุดรอดจากการตรวจเข้ม เพราะหากเปิดเกาะไปแล้วพบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ กระจายทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล ระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ และเตียงผู้ป่วยมากกว่า 80% ตามแผนจะต้องปรับเปลี่ยนมาตรการ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ไล่ตั้งแต่ปรับลดกิจกรรม, การทำแผนปฏิบัติการ Sealed Route, การกักตัวภายในสถานที่พัก (Hotel Quarantine) ถ้าไม่เป็นผล สุดท้ายอาจต้องทบทวนยุติ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”!!! หรือการขูดรีดค่าโดยสารจากนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการแพงเกินจริง โดยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนที่จดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต กำหนดอัตราค่าจ้างระยะทาง 2 กม.แรก 50 บาท กม.ที่ 2 ขึ้นไปถึง กม.ที่ 15 กม.ละ 12 บาท ระยะทาง กม.ที่ 15 ขึ้นไปกม.ละ 10 บาท และกระทรวงคมนาคมยังออกประกาศ เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนแบบพิเศษ เป็นรถยนต์หรูราคาแพง กำหนดอัตราค่าจ้าง ระยะทาง 2 กม.แรก 150 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กม.ขึ้นไป กม.ละ 12-16 บาท และถ้าเป็นกรณีการจองล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ให้เรียกเก็บเพิ่มอีกไม่เกิน 100 บาท แม้รถยนต์ที่มารับนักท่องเที่ยงเป็นรถยนต์บริการป้ายเขียว ก็ต้องบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ พรบ.รถยนต์ 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง นี่เป็นเพียงปัญหาที่พึ่งจะเริ่มต้น!! เชื่อว่ายังมีอีกหลายปัญหาตามมาที่ต้องให้แก้ไข! อย่าพึ่งไว้วางใจอะไรง่าย ๆ !!!