นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนมิถุนายน2564 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 3 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่างๆจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 37.3 ,40.0 และ 52.1 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 38.9 ,41.3 และ 53.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด
โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.7 เป็น 43.1 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 272 เดือนหรือ 22 ปี 8 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 29.2 มาอยู่ที่ 28.1 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 267 เดือนหรือ 22 ปี 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2542 เป็นต้นมา แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 52.0 มาอยู่ที่ระดับ 50.1 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 273 เดือนหรือ 22 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 3 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้
ขณะเดียวกันต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลจะมีการประกาศ Lockdown หรือไม่และอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 0-2 ได้