"แอมเนสตี้" ยื่นผลวิจัย "หน้าแสบร้อนเหมือนโดนไฟไหม้" ถึงสภาฯ ร้องภาครัฐเคารพเสรีภาพในการชุมนุม สืบสวนจนท. ใช้กำลังโดยมิชอบ ชดเชยเยียวยา ยกเลิกข้อหานักกิจกรรม-พ.ร.บ.ชุมนุม-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้ายื่นรายงานวิจัยศึกษาผลกระทบการชุมนุม การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามชุมนุมในประเทศไทย เรื่อง “หน้าแสบร้อนเหมือนโดนไฟไหม้” ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องรัฐบาลส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ทุกคนสามารถใช้สิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์ เรียกร้องเรียกร้องไทยต้องเคารพสิทธิใน เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ
โดยนางปิยนุช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 บริเวณรอบรัฐสภา สำหรับผู้ชุมนุมเป็นเหมือนสมรภูมิรบ มีการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนทั้งเครื่องฉีดน้ำความดันสูง สารเคมีมีความระคายเคืองหรือแก๊สน้ำตาการที่เรามายื่นหนังสือถึงนายชวนในวันนี้เพราะหวังว่าภาครัฐจะจริงจังในกาารใช้มาตรการต่างๆ ในการควบคุมฝูงชนให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชนและหลักสากล ซึ่งรายงานฉบับนี้มีการดูคลิปและสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แสดงให้เห็นถึงการใช้กำลังควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่ถูกต้องและละเมิดสิทธิ ดังนั้นทางแอสเนสตี้ฯ จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย คือ 1.กำหนดแนวทาง ดูแลการชุมนุมในภาพรวมให้เป็นไปในแนวทางการอำนวยความสะดวกและรับประกันในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของผู้ชุมนุม โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ 2.ให้ความสำคัญในวิธีการที่ไม่รุนแรง เช่น การเจรจา การแลกเปลี่ยนความเห็น และการไกล่เกลี่ยเพื่อลดการปะทะที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง และให้การประกันว่าการใช้กำลังใดๆ ระหว่างการชุมนุม สามารถทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างถึงที่สุดเท่านั้นและต้องใช้อย่างสอดคล้องกับหลักความจำเป็น 3.แยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและไม่ผู้ชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรง และปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงที่กระทำความผิดเท่านั้น
นางปิยนุช กล่าวต่อว่า 4.ให้มีการสืบสวนอย่างรวดเร็ว เป็นอิสระ ไม่ลำเอียงและเห็นผลต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนรวมถึงจำรวจตระเวนชายแดนที่ใช้กำลัง รวมถึงฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีที่มีความระคายเคืองใส่ผู้ชุมนุม ตลอดจนให้มีการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมต่อผู้เสียหายจากการใช้กำลังโดยมิชอบและรับประกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีก และ 5.ยกเลิกข้อหาทั้งหมดที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมที่ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบ และแก้ไขหรือยกเลิกพ.ร.บ.ชุมนุมและพ.ร.ก.ฉุกเฉินให้สอดคล้องกับกฎหมาย และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงให้เกิดการชุมนุมโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าได้ และยกเลิกข้อจำกัดที่เกินกว่าเหตุในการปิดกั้นการชุมนุมโดยสงบ