อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี อยู่ในกระบวนเตรียมข้อมูลเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโครงการ ภายใต้แนวทางฟื้นฟูและป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยหนึ่งในนั้นมีแนวปฏิบัติที่จะดูแลผลกระทบต่อช้างป่าแห่งลุ่มน้ำวังโตนดที่กรมชลประทานจะต้องจับมือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่หารือกับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดและร่วมกันติดตามพฤติกรรมช้างป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมวซึ่งเป็นอ่างที่กำลังก่อสร้างในลุ่มน้ำเดียวกันเพื่อใช้ประกอบแนวทางแก้ไขผลกระทบและช่วยเหลือตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ซึ่งกรมได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) รวม 38 แผนงาน แยกเป็นแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 19 แผนงานและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวม 19 แผนงาน ซึ่งทั้งหมดกรมชลประทานจะสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูระยะเวลาติดตามโครงการ 15 ปี
ทั้งนี้ อ่างมีความจุ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ใช้พื้นที่ป่า 14,600 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง 7,097 ไร่ และในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น 7,503 ไร่ เบื้องต้นจะลดการใช้พื้นที่ สำหรับเป็นพื้นที่บริหารโครงการจาก 1,850 ให้เหลือประมาณ 500-800 ไร่ ในส่วนของการฟื้นฟูสภาพป่าไม้และดูแลสัตว์ป่า โดยจัดสรรงบประมาณให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปลูกป่าทดแทนและดูแลรักษาป่าในพื้นที่อนุรักษ์ 29,200 ไร่ ปลูกพืชอาหารสัตว์ การส่งมอบคืนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และกำหนดจุดสร้างฝายดักตะกอน
"มาตรการและแผนปฏิบัติการฯ กรมอุทยานฯ เป็นผู้กำหนดจุดที่เหมาะสมในการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า การก่อสร้างแหล่งน้ำเล็กๆ และแหล่งน้ำสำรองสำหรับสัตว์ป่า ให้กระจายเป็นจุดๆอย่างน้อย 5 จุด ทางตอนบนของอ่าง ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย ปลูกต้นไม้พืชอาหารสัตว์ ไม้ดั่งเดิม ไม้ท้องถิ่น ไม้ป่ามีผล กระจายทั่วทางด้านเหนือตะวันออก และตะวันตกของโครงการเพื่อให้สัตว์ป่ากระจายตัว การสร้างหน่วยพิทักษ์อุทยาน การสร้างแนวรั้วป้องกันช้างออกนอกพื้นที่อุทยาน นอกจากนั้นในบริเวณชอบอ่างที่มีความชัน กรมชลฯ จะมีการปรับให้มีความลาดลงเพื่อให้สัตว์ป่าลงมากินน้ำได้อย่างปลอดภัย"
ด้านนายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดมีรูปทรงเป็นกระทะเหมือนอ่างเก็บน้ำคลองประแกดซึ่งในฤดูแล้งพบว่าจะมีสัตว์ป่าและช้างป่า ลงมากินน้ำที่อ่างเก็บน้ำคลองประแกดอยู่เสมอทุกปีดังนั้นก็คาดว่าในอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดหากสร้างเสร็จจะกลายเป็นแหล่งน้ำให้กับช้างและสัตว์ป่าในพื้นที่เพิ่มเติมได้อีกจุดหนึ่ง และในแต่ละปีจะมีช่วงที่น้ำเยอะประมาณ 5-6 เดือน และในห้วงเวลาที่เหลือระดับกักเก็บน้ำจะเริ่มลดลง ทำให้พื้นที่หากินของสัตว์ขยายเพิ่มมากขึ้นสลับกันไป
เนื่องจากกรมได้เก็บข้อมูลน้ำในรอบ 30 ปีและทำรูปแบบการบริการจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดพบว่าระดับน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 65.6 ล้านลบ.ม. จะมีพื้นที่น้ำท่วมในอ่างสูงสุดประมาณ 4,479 ไร่ในช่วงเดือนต.ค-ก.พ. พื้นที่หากินของสัตว์ป่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,494 ไร่ ในขณะที่เดือนที่เหลือจะมีพื้นที่น้ำท่วมเฉลี่ย 1,800-2,200 ไร่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เม.ย.-ก.ค. จะมีน้ำกักเก็บประมาณ 12 -7.4 ล้านลบ.ม.พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 500-800 ไร่เท่านั้น ทำให้พื้นที่หากินของสัตว์ป่าจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 5,553 ถึง 6,800 ไร่ และในพื้นที่อ่างจะมีพืชอาหารสัตว์เติบโตขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำคลองวังโตนด กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนกรมชลประทานในการขับเคลื่อนโครงการอย่างเต็มที่เพราะคนในลุ่มน้ำนี้ต่อสู้และรอมานาน ดังนั้นจะให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการนี้ อีกทั้งพร้อมทำความเข้าใจกับภาคส่วนอื่นทั้งเรื่องป่าไม้ และช้างป่า ซึ่งกรณีเรื่องช้างป่านั้นทางกลุ่มลุ่มน้ำวังโตนดพร้อมที่จะต้อนรับทุกคนที่ต้องการลงมาดูพื้นที่จริง
นายเดช จินโนรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง อ.ท่าใหม่ กล่าวว่าตนเองอยู่ในพื้นที่มา 30 ปี เดิมทีไม่ค่อยมีช้างออกมาเพราะป่าสมบูรณ์ ต่อมามีการให้สัมปทานมีการลากไม้สำคัญไปหมด จนป่าเสื่อมโทรมและคนเริ่มเข้ามาทำกิน และในลุ่มน้ำวังโตนดเริ่มแห้งแล้งเพราะไม่มีที่เก็บน้ำ น้ำมาก็ไหลลงทะเล ช้างก็เริ่มออกมาใกล้คนมากขึ้น มีอันตรายทั้งคนทั้งช้าง ดังนั้นแนวทางที่มีการวางไว้คือการสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหารในป่า และแนวกันช้าง ก็น่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมและคนในชุมชนพร้อมที่จะช่วยกันฟื้นฟูป่าและช้างในระยะต่อไป