"เอนก" รมว.การอุดมศึกษาฯ เผย อว. พร้อมเป็นกองหนุนในทุกสถานการณ์ ทุ่มกำลังและเทคโนโลยีร่วมดูแลสถานการณ์การระเบิดและไฟไหม้โรงงานที่สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 64 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวง อว. ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความรุนแรงจากเหตุระเบิดที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ต.ราชเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดย อว. ได้ระดมเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาร่วมดูแลสถานการณ์นี้ เช่น ให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแบบทันต่อสถานการณ์ แผนที่แบบละเอียดถึงบริเวณเสี่ยง รวมทั้งทิศทางลม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ซึ่งล่าสุดได้เปิดเผยแผนที่ละเอียดการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของชุมชนบริเวณรอบๆ โรงงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนเข้าใจ สามารถประเมินสถานการณ์ของโรงงาน ชุมชน หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงได้ในเบื้องต้น หรือเตรียมการเคลื่อนย้ายได้ทันการณ์ นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุนทีม “Novy โดรน” สตาร์ทอัพผู้ให้บริการโดรนเพื่อการเกษตร ที่สนับสนุนโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งได้เข้ามาร่วมทีมเฉพาะกิจ โดยการปล่อยโดรนบินเพื่อหาจุดปิดวาล์วถังสารเคมีที่อยู่ใต้ดิน จนพบจุดสำคัญ ทำให้เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงฉีดโฟมเข้าสกัด และปิดวาล์วดังกล่าวได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้เข้ามาเป็นหน่วยให้ข้อมูลชนิดของสารเคมี ความเสี่ยง อันตราย ข้อควรระวังต่างๆ โดยเฉพาะการป้องกันและการทำงานสะอาดหากมีการสัมผัสสารสไตรีนโมโนเมอร์ (styrene monomer) และยังมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ให้ข้อมูลความปลอดภัยทางรังสีจากการเข้าไปตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลใบอนุญาติมีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีของโรงงานในบริเวณนั้นแล้ว พบว่าทั้งโรงงานหมิงตี้ฯ และโรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยรัศมี 5 กม.โดยรอบไม่มีการครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี อีกทั้งรายงานตรวจวัดปริมาณรังสีในอากาศจากสถานีเฝ้าระวังทางรังสียังพบว่าอยู่ในระดับปกติอีกด้วย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่ของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น อว. ได้เตรียมการให้โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อมในการดูแลในสถานการณ์ขนาดใหญ่ รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมรับดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในพื้นที่ ก็ได้จัดเตรียมอาคารสถานที่ไว้รองรับ หากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายหรืออพยพคนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงออกมา ในส่วนของนิสิตนักศึกษาและบุคลากรที่มีที่พักอาศัยหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียง ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี สมุทรปราการ และจุดอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เตรียมการที่จะดูแลให้สถานที่และที่พักสำหรับผู้ได้รับผลกระทบด้วย รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ส่วนทางด้าน รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ วัตถุดิบที่ติดไฟและระเบิดคือ “สไตรีน”(Styrene) เป็นของเหลวใส ติดไฟง่าย มีกลิ่นแรงเฉพาะตัว และมีความหนาแน่นที่น้อยกว่าน้ำ และละลายน้ำได้น้อยมาก ซึ่งควันดำที่เห็นลอยไกลๆ คือสิ่งที่เกิดจากการเผาไหม้สไตรีน คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนออกไซด์ รวมถึงสารในกลุ่มอะโรมาติก คล้ายการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั่วไป จริงๆ แล้วไม่น่ากลัวเท่าไอสไตรีน โชคดีที่สไตรีนหนักกว่าอากาศ ไม่ลอยไกล อยู่ในอากาศ 7-8 ชม. ก็สลายตัว การดับไฟจากสไตรีน ใช้น้ำ โฟม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารเคมีแห้ง ใช้น้ำควบคุมไฟได้ แต่ต้องระวังเนื่องจากสไตรีนเบากว่าน้ำและไม่ละลายน้ำ จะลอยน้ำและนำไฟไปลุกลามจุดอื่น ยืนยันว่าควันดำลอยไกลไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวคือการระเบิดของถังบรรจุสไตรีน และสไตรีนตกค้างรอบๆ จุดเกิดเหตุ