เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “ สร้างเถ้าแก่ SME สู่ความยั่งยืน รุ่นที่ 2 ” จัดโดย สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เพื่อเป็นกองทุน SME ด้านองค์ความรู้ ตอกย้ำนโยบาย “เซเว่น อีเลฟเว่น กองหนุน SME” การสัมมนาในครั้งนี้มุ่งเน้นให้ความรู้ที่สำคัญในการยกระดับ SME ในเรื่องมาตรฐานการผลิตสินค้าในตลาด Modern Trade เพราะตระหนักดีว่าเอสเอ็มอี บ้านเราที่มีอยู่เกือบ 3 ล้านรายนั้นเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และยิ่งในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบ องค์ความรู้ที่ได้จากการสัมมนานี้จึงเป็นอีกแนวทางในการสนับสนุนช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของภาครัฐได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้สินค้ามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล โดย น.ส.อินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ได้กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานสัมมนาว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น จะเห็นว่ามีกฎหมายใหม่ๆ เกิดขึ้นมาหลายฉบับ ซึ่งเอื้ออำนวยหรือให้ความสะดวกกับองค์กรอิสระ เพื่อที่จะตรวจสอบสินค้า อาหารในท้องตลาดได้ “ดังนั้นอยากที่จะเชิญชวนและขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกท่านได้กลับมาทบทวนและพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อให้มีคุณภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียน หรือลูกค้าทิ้งเราไป โดยที่ไม่ได้บอกกล่าว” จากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง “เจาะลึกกฎหมาย GMP และ อย. ฉบับใหม่ (ป.สธ.ฉบับที่ 420)” โดย น.ส.กุสุมาลย์ รุ่งดำรงค์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จาก ซีพี ออลล์ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนา ให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐ น.ส.กุสุมาลย์ กล่าวว่า GMP (การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร -Good Manufacturing Practice) เป็นหัวใจในการผลิตอาหารให้ปลอดภัย ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร เป็นประกาศฉบับใหม่ ซึ่งได้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณุข(สธ.)หลายฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฉบับที่ 193 และฉบับที่ 342 ฯลฯ มารวมเป็นฉบับใหม่ เพื่อให้มีความกระชับ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยประกาศฉบับใหม่นี้ มี 5 หมวดหลัก คือ 1.สถานที่ตั้งอาคารผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา 2. เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา 3.การควบคุมกระบวนการผลิต 4.การสุขาภิบาล 5. สุขลักษณะส่วนบุคคล สำหรับเรื่องของเกณฑ์การผ่านการประเมินนั้น ถ้าจะผลิตอาหารต้องใช้ประกาศนี้ แต่ถ้ายังไม่ตรวจอยากให้ศึกษาเรื่องเกณฑ์กันก่อน คะแนนรวมแต่ละหมวด ทั้ง 5 หมวด จะต้องมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ หรือร้อยละ 60 และจะต้องไม่พบข้อบกพร่องรุนแรง หรือที่เรียกว่าระดับ Major CAR ดังนั้นผู้ประกอบการต้องไปศึกษาว่าข้อกำหนดใหน ที่เป็นระดับ Major CAR บ้าง แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะไม่ติด Major ไม่อย่างนั้นจะไม่ผ่านเกณฑ์ แนวประกาศในฉบับนี้ มี 2 ส่วน ส่วนแรกมี 5 หมวด ซึ่งเป็นข้อกำหนดทั่วไป ส่วนที่ 2 เป็นข้อกำหนดเฉพาะ มีอยู่ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักๆ ด้วยกัน ที่จะต้องทำให้ผ่านในทุกข้อกำหนดเลย คือในกลุ่มของ 1.น้ำบริโภค น้ำแร่ธรรมชาติ น้ำแข็ง 2.ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภค 3.อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิด การบังคับใช้ประกาศสธ. ฉบับที่ 420 นี้ ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ต้องขอ อย.เป็นสถานที่ประกอบอาหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ส่วนผู้ประกอบการรายเก่า(รายเดิมที่เคยผ่านการตรวจมาแล้ว) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 7 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการรายใดจะต่ออายุต้องรีบดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ เพราะภาครัฐมีมาตรการบทลงโทษเอาไว้ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามประกาศ สธ.ฉบับนี้มี โทษตามมาตรา 49 ต้องระวังโทษ และปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าผิดเป็นครั้งที่ 3 สามารถพักใบอนุญาตกิจการนั้นทันที ขอบข่ายของการบังคับใช้ของประกาศ ฉบับที่ 420 บังคับใช้ในเรื่องของอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในสถานที่ใดๆ เป็นอาหารทุกชนิดที่กินได้ ยกเว้นกลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่จัดไว้เพื่อปรุงอาหารจนสำเร็จแล้วให้กับผู้บริโภคทันทีคือขายหน้าร้านเลย จะไม่เข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้ หมวดที่ 1 เรื่องสถานที่ตั้ง อาคารผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา ข้อนี้ไม่ได้แตกต่างจากเดิมโดยทำเลที่ตั้งต้องอยู่ห่างจากแหล่งสิ่งปฎิกูลต่างๆ และต้องไม่มีสิ่งสะสมที่ไม่ใช้แล้ว ที่ไม่เกี่ยวข้อง หมวดที่ 2 เรื่องเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์ การผลิตและการรักษา เครื่องมือเครื่องจักรต้องออกแบบให้ถูกสุขลักษณะ หมวดที่ 3 เรื่องของการควบคุมการผลิต ในเรื่องลดการปนเปื้อน ต้องมีการคัดเลือกวัตถุดิบ ส่วนผสม วัตถุเจือปนในอาหาร ที่มีคุณภาพจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ในหมวดนี้ยังระบุต้องตรวจสอบประเมินตัวเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วย (IQA) ซึ่งถ้าพนักงานยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องตรวจสอบภายในก็ต้องไปอบรมศึกษาก่อน หากทำให้มีประสิทธิภาพจะสามารถพัฒนาองค์กรได้มาก ดังนั้นจึงต้องเตรียมบุคลากรไว้ หมวดที่ 4 การสุขาภิบาล คือ สภาพแวดล้อมทั่วไปที่อยู่ในโรงงานนั่นเอง อาทิ น้ำที่ใช้ในโรงงานต้องเป็นน้ำสะอาด และหมวดที่ 5 เป็นหมวดของสุขลักษณะส่วนบุคคล อันดับแรกต้องมีการตรวจวิเคราะห์โรคประจำปี ต้องตรวจสอบว่ามีโรคอะไรไหม เป็นพาหะนำโรคอะไรหรือเปล่า และตอนนี้อ้างอิงกฎกระทรวงฉบับที่ 1 ปี 2522 รวมถึงถ้าจะให้พนักงานเข้าไลน์การผลิต พนักงานจะต้องไม่มีบาดแผล และต้องไม่เป็นโรค ตามประกาศในฉบับนี้ด้วย รวมถึงการทำความสะอาดร่างกาย พนักงานที่เข้าไปในไลน์การผลิต ควรมีเล็บสั้น ไม่ทาสีเล็บ เพราะว่าเป็นอาหาร รวมถึงการล้างมือ จะต้องสะอาดทุกครั้งก่อนเริ่มปฎิบัติงาน และภายหลังสัมผัสจากสิ่งที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนได้ หรือกรณีที่ต้องสวมถุงมือ จะต้องอยู่ในสภาพที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ทำด้วยวัสดุที่สัมผัสอาหารได้ และไม่ปนเปื้อน นอกจากนี้ต้องสวมหมวกคลุมผม และสวมผ้าปิดปาก เพราะเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้หลังจาก 2 วิทยากรบรรยายเสร็จแล้ว ภาคบ่ายเป็นช่วง SME Clinic เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้ปรึกษาพูดคุยโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญของ ซีพี ออลล์ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการต่างสอบถามปัญหาหลายอย่าง อาทิ ขั้นตอนการขอ อย. และการตรวจประเมินสถานที่ผลิต ฯลฯ ประตูแห่งความรู้ที่เปิดให้ SME มาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ “เซเว่น อีเลฟเว่น กองหนุน SME” ที่จะเดินหน้าให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อไป