ทรงมีความสุขที่ได้ทำเพื่อประชาชน (จบ) การเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมและเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ก่อนเสด็จฯ กลับจะมีงานพระราชทานเลี้ยงเพื่อให้ข้าราชการในพื้นที่และราษฎรที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานที่พระตำหนักในภูมิภาค มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาส “เข้าวัง”คนที่มาร่วมงานได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกัน มีเรื่องอะไรก็สามารถประสานงานกันได้ และทรงใช้โอกาสนี้มีพระราชดำริหรือปรึกษาหารือเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือราษฎรให้ได้รับทราบร่วมกัน หรือรับไปดำเนินการในคราวเดียวกัน ทรงแบ่งเวลาเก่ง ในช่วงเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทรงให้เวลาส่วนใหญ่ในการมีพระราชดำรัสกับชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่ ส่วนข้าราชการที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จจะมีพระราชดำรัสด้วยภายหลังบนโต๊ะเสวยบ้าง ในการทำงานบ้าง ซึ่งมีโอกาสพบข้าราชการเหล่านั้นอีก แต่เวลาที่เสด็จฯ อยู่ในพื้นที่และพบราษฎรมีน้อยและโอกาสที่จะได้เสด็จฯ ซ้ำในพื้นที่อีก ยิ่งมีน้อยมาก ทรงใช้เวลาคุ้มค่าไม่ปล่อยให้เสียไป แม้แต่ระหว่างเสด็จฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งระหว่างเสวยไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ไปด้วย ทำให้ทรงทราบถึงสถานที่ ที่เสด็จฯ ผ่านรวมทั้งทรงสอบถามข้อมูลต่างๆ จากนักบินด้วย วิธีทรงงานที่ทำให้ชาวบ้านกับราชการได้ประสานงานกัน จะทรงแนะนำชาวบ้านว่า “นี่นายช่างชลประทานนะ เดี๋ยวจะมาอีกที ให้นัดกัน”เวลามีผู้สื่อข่าวตามเสด็จไปด้วยจะทรงนำไปสัมภาษณ์ราษฎรให้ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลจากราษฎรโดยตรง ทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชน นายตรีวิทย์นำการพูดคุยกับนายวุฒิ สุมิตรอดีตรองราชเลขาธิการมาถ่ายทอดต่อไปว่าช่วงเวลากว่า 2 ชั่วโมง ที่ “พี่วุฒิ” ได้กรุณาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในการทำงานถวายงานอย่างใกล้ชิดมากว่า 60 ปี ดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว คณะผู้สัมภาษณ์จากสำนักงาน กปร. นำโดย นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์อดีตเลขาธิการ กปร.ได้มีโอกาสรับทราบถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง การทรงงานที่ยากลำบากตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามอย่างแท้จริง ผู้ตามเสด็จทำงานถวายในด้านการทรงงานพัฒนาในยุคแรกๆ ต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง การเดินทางยากลำบาก เครื่องไม้เครื่องมือยังไม่ทันสมัย เช่นปัจจุบัน แม้แต่พระอาการประชวรก่อนเสด็จสวรรคต ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทรงงานหนักเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรนั่นเอง ยังมีอีกบางเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สามารถเผยแพร่ได้ เป็นต้นว่า เมื่อ พ.ศ. 2503 เสด็จฯไปทรงเยือนต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวถามว่า “ทำไมทรงไม่ค่อยยิ้ม”ทรงตอบด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า “มีพระราชินี ทรงยิ้มอยู่แล้ว”หลังจากเสด็จฯ นิวัติประเทศไทย จึงมีพระราชดำริให้สร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นที่ประทับแรมในภูมิภาค และทรงใช้เป็น “ฐานปฏิบัติการทรงงาน” ในภูมิภาคเป็นแห่งแรก ต่อมาจึงได้มีพระตำหนักทรงงานทุกภูมิภาค รวมทั้งมีฐานย่อยๆ เช่น ทีปางตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่เรียกว่าพระตำหนักแต่เรียกว่า ที่ประทับแรมชั่วคราวโครงการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สร้างอย่างเรียบง่ายไม่หรูหรา) ทรงทำโครงการหลวงเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม เพราะตอนนั้น (พ.ศ.2512) ป่าต้นน้ำถูกทำลาย มีการปลูกฝิ่นจำนวนมาก จึงต้องมีการอนุรักษ์ต้นน้ำและส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญทูตต่างประเทศมาเป็นพยานถึงความพยายามในการลดพื้นที่ปลูกพืชเสพติดของประเทศด้วยไม่ทรงถือพระองค์ ดังเช่นกรณีชาวไทยภูเขา กราบบังคมทูลถามว่า “มีลูกหรือยัง…มีกี่ตัว…เอาผัวหรือยัง” ก็ทรงตอบโดยไม่ทรงถือสา การที่มีพระราชดำริ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก “พี่วุฒิ” ขยายความว่า “อ่างพวง…แก้มลิง…ป่าเปียกทุกอย่างต้องเริ่มจากน้ำ ไม่มีน้ำ…ก็จบ.. ในกรณีของการรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถ้าไม่อยู่ในที่ป่าอนุรักษ์ ก็ทรงรับเป็นโครงการหมด แต่ถ้าติดปัญหาที่ดิน ถ้าไม่คุ้ม ก็ไม่ทรงทำ แม้จะเป็นพระราชดำริ ไม่ต้องทำก็ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะทรงแนะนำ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทำโครงการพัฒนาให้มีความเกื้อหนุนกันตลอด ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ทรงออกแบบเป็นรูปสังข์ มีน้ำหยดออกมาเคยกราบบังคมทูลถามว่า น่าจะเป็นสายย้ำที่ไหลอย่างต่อเนื่อง ทรงตอบว่า “เราประหยัดน้ำ” ทรงสอนว่า ทำงานอย่าเอาหน้า ทรงจัดการน้ำตั้งแต่ บนฟ้า บนดิน ใต้ดิน ครั้งหนึ่ง กรมชลประทานกราบบังคมทูลว่า อ่างเก็บน้ำรั่ว ทรงตอบว่า “อ่างรั่วสิดี น้ำซึมลงใต้ดิน ดินชุ่มชื้น” ได้ประโยชน์กับพื้นที่รับน้ำทางตอนล่างของโครงการ ท้ายที่สุด “พี่วุฒิ” ได้ย้ำในเรื่องการทำงานว่าต้องมีทั้งฝีมือ และเครื่องมือ ต้องมีทั้งสองอย่างนี้จึงจะทำงานสำเร็จ.. การก่อสร้างอย่าให้โก้มาก ต้องพอเพียง สมถะ แต่เครื่องมือต้องเต็มเหนี่ยว และฝากให้สำนักงาน กปร. พิจารณาจัดทำป้ายของโครงการต่างๆ ให้สามารถเดินทางไปอย่างสะดวกบอกถึงระยะทางอย่างชัดเจน สำหรับในโครงการก็ต้องมีป้ายบอกชื่อต้นไม้หรือตัวอย่างพันธุ์ไม้ ถ้าเป็นโครงการที่มีนกน่าสนใจ ก็ควรมีคู่มือดูนก เป็นต้น และที่สำคัญที่ทำให้พวกเราปลื้มปีติใจ “พี่วุฒิ” เล่าว่า การไปเข้าเฝ้าฯ ของสำนักงาน กปร. เป็นการนำงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงศรัทธาที่อยู่ในพระราชหฤทัยมาถวายรายงานช่วยให้พระพลานามัยดีขึ้น ใช้เวลาเฝ้าฯ นานๆ ไม่ต้องเกรงใจ..ทรงถือเป็นกันเองและรายงานที่จะทูลเกล้าฯ ถวายควรใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่ ฟอนท์ 37 “การที่ทรงบุกป่าฝ่าดง ที่เราเห็นภาพเหงื่อไหล (พระเสโท) ทรง เดินลุยน้ำไปช่วยประชาชนทรงมีความสุข ทรงชอบมาก ทรงมีความสุขกับการที่ได้ทำเพื่อประชาชน”ประโยคทิ้งท้ายของนายวุฒิ สุมิตร ที่นายตรีวิทย์ ถ่ายทอดไว้