ทรงมีความสุขที่ได้ทำเพื่อประชาชน (2) นอกจากปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่ติดตามเสด็จไปถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรด้านการพัฒนาแล้ว ฝ่ายปกครอง/มหาดไทยในห้วงเวลานั้นก็ไม่เข้มแข็ง ข้อมูลหมู่บ้านที่เป็นเป้าหมายเสด็จฯมีน้อย เนื่องจากข้าราชการในพื้นที่ก็ไม่เคยออกไปเยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้านจึงติดตามเข้าไปดูในหมู่บ้านนั้นด้วย เท่ากับว่าได้ทรงนำข้าราชการออกเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ ที่รับผิดชอบนั่นเอง บางทีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดไม่เข้าใจถึงพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริงก็มาต่อว่าคณะเจ้าหน้าที่ตามเสด็จว่า มีเสด็จฯในพื้นที่ทำไมไม่บอกก่อน ถูกต่อว่ามากๆเข้า ก็ต้องตอบโต้ไปบ้างว่า “ที่เสด็จฯ เข้าไปในพื้นที่โดยไม่บอกก่อนก็เพื่อปราบผักชีโรยหน้า” สมัยก่อนการส่งข่าวให้รวดเร็วทันเวลาต้องใช้โทรศัพท์บอกข้อความกันเป็นชั่วโมงกว่าจะเสร็จ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์แต่ละช่องแข่งขันกันที่จะเผยแพร่ข่าวก่อนช่องอื่นๆ ต้องพยายามบริหารจัดการให้นำเสนอข่าวพร้อมๆ กัน ซึ่งนอกจากจะต้องรอเสด็จฯให้ครบทุกจุดในวันนั้นๆ แล้วเพื่อความสมบูรณ์ของการสรุปพระราชกรณียกิจและพระราชดำริ การเสนอข่าวพร้อมกันในวันรุ่งขึ้นจะมีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข่าวมากกว่า การลดจำนวนเจ้าหน้าที่ติดตามเสด็จ บางครั้งตัดออกแม้แต่ช่างภาพส่วนพระองค์ทำให้การเสด็จฯ ในครั้งนั้นถ่ายภาพไม่ได้ สำนักงาน กปร.ช่วยงานได้มาก ในช่วงก่อนจะก่อตั้งสำนักงาน กปร.(ก่อน พ.ศ. 2524) เมื่อมีพระราชดำริหน่วยงานในพื้นที่รับพระราชดำริไปจัดทำโครงการเสนอของบประมาณไปยังต้นสังกัดก็ต้องมีการตรวจสอบอีกว่า มีพระราชดำริตามที่อ้างจริงหรือเปล่า แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กปร. ไปตามเสด็จ ก็จะมีบันทึกพระราชดำริที่ชัดเจน ช่วยเป็นพยานให้หน่วยงานที่จะทำโครงการ รวมทั้งมีงบประมาณให้การสนับสนุนโครงการด้วย “มีสำนักงาน กปร. ขึ้นมาแล้วช่วยได้มาก พวกผมต้องถือเป็นบุญคุณมาก” สำนักงานกปร. ได้เข้ามาช่วยเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระราชดำริ โดยการบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้ จัดทำหนังสือและสื่อต่างๆ มากมายมหาศาล นักพัฒนาต้องแข็งแรง…จิตใจต้องสู้ การทรงงานและพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แสดงให้เห็นถึงการทรงมีความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อราษฎร ดังนั้น เมื่อมีพระราชดำรัสอะไร ราษฎรก็เชื่อถือ ศรัทธา เรียกว่า ชนะใจประชาชน ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชาวไทยภูเขา ม้งได้นำเหล้าขาวมาทูลเกล้าฯ ถวาย “แก้วใส่เหล้าเลอะเทอะ ฝุ่นเปื้อน ก็เสวย” ความจริงใจเช่นนี้ทำให้ชาวไทยภูเขายอมเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นมาปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน งานที่เหนื่อยที่สุด คือ โครงการหลวง ทรงงานในพื้นที่เปื้อนฝุ่นไปหมด เสด็จฯกลับมาที่ประทับแรม “ควรจะได้อาบน้ำ กินข้าวต้ม พักผ่อนให้สบาย แต่ทรงเอางานมาขึ้นโต๊ะเสวยอีกแล้ว” ความประทับใจเรื่องหนึ่งคือ การได้เขียนยกร่างพระบรมราโชวาทพระราชทานบัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนำการทรงงานพัฒนาเรื่องหญ้าแฝกมาเปรียบเทียบว่า บัณฑิตควรทำตัวเป็นหญ้าแฝก ไม่ใช่วัชพืชขึ้นที่ไหนทำความเดือดร้อน…ไปที่ไหนให้สร้างประโยชน์ อีกเรื่องหนึ่ง คือการเตรียมพระองค์เพื่อเสด็จฯ ไปทรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัดเรียกว่า “ดีและเก่ง” รวมทั้งฝึกพระราชโอรส พระราชธิดา ข้าราชบริพาร ให้มีความพร้อมในการขึ้นเขา ลงห้วย นอนเต็นท์ มีทักษะในการเดินป่า ทรงสอนว่า “นักพัฒนาต้องแข็งแรง ไม่งั้นอายเขา จิตใจต้องสู้”โดยทรงนำออกกำลังทุกวัน วังไกลกังวล หัวหิน เป็นสถานที่ “ชาร์จแบต” ที่ดี ทรงเรือใบเพื่อฝึกข้าราชบริพารโดนแดด โดนฝน ตอนเย็นทรงนำข้าราชบริพารและทหารราชองครักษ์ เดิน – วิ่ง ที่หาดทรายใหญ่(หาดไทรใหญ่) จากนั้นวิดพื้นอีก 30 ครั้ง ทำให้ร่างกายแข็งแรงสามารถเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ป่าเขา จนแม้แต่ชาวไทยภูเขาก็ยัง “ทึ่ง” ทรงเป็นตัวอย่างของการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบริหารเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากการทรงงานตรวจสอบฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ “เป็นปึก” (ประมาณ 300 – 400 เรื่อง) ในห้องทรงงานเปิดวิทยุสื่อสารทุกเครือข่าย เพื่อทรงทราบถึงเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่าทรงครองแผ่นดินโดยใช้เครื่องมือสื่อสาร ทรงฟังวิทยุ และทรงอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เครื่องมือสื่อสารสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนา ทรงรู้ว่าฝนจะมาเมื่อไหร่ เช่น เหตุการณ์พายุฝนรุนแรงจนทำให้เกิดน้ำท่วม จังหวัดชุมพร (ซึ่งทรงเตือนภัยล่วงหน้า และมีพระราชดำริให้ขุดคลองหัววัง – พนังตักให้แล้วเสร็จภายใน 28 วัน เพื่อระบายน้ำช่วยบรรเทาน้ำท่วมชุมพรก่อนจะเกิดพายุฝนตกหนัก) ทรงมีความเชี่ยวชาญในการอ่านแผนที่ ที่เป็นกระดาษแผ่นแบนๆ ทรงฝึกงานอ่านจนสามารถเป็นภาพ 3 มิติได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ทรงรู้จักแผ่นดินของพระองค์ แผนที่ 800 กว่าแผ่น ทรงทราบหมด (ว่าอะไรอยู่ที่ไหน) ทรงทราบถึงภูมิประเทศ แหล่งน้ำ ภูเขา ข้าราชการบางคนยังชี้แผนที่ไม่รู้ว่าน้ำไหลไปทางไหน มีตัวอย่างของพวกที่ไม่รู้จักภูมิประเทศ เคยกราบบังคมทูลถามว่า ภาคใต้มีน้ำมาก ทำไมไม่ผันน้ำไปช่วยภาคอีสานที่มีปัญหาแห้งแล้ง(ไม่รู้จักภูมิประเทศ ไม่รู้เรื่องลุ่มน้ำ) พระตำหนักที่ประทับต่างๆ เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยใช้ปูนซีเมนต์เป็นส่วนใหญ่ ใช้ไม้น้อยและเป็นไม้ที่ ปลูกได้ ไม่ใช้ในป่า เช่น ไม่ยูคาลิปตัส ไม้ยาง เป็นต้น (อ่านต่อฉบับหน้า)