สพด.แม่ฮ่องสอน หนุนเกษตรกรปลูกพืชหลากหลาย แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พร้อมนำแนวคิด น้ำคือชีวิต ดินคือหัวใจ ปรับใช้ในพื้นที่เกษตรกร
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายชัยพร อุปนันท์ เจ้าพนักงานการเกษตรปฎิบัติงาน สถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จากสภาพพื้นที่บ้านห้วยทราย อ.แม่เสรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่สภาพพื้นที่เป็นหุบเขา เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว พื้นที่ขาดแคลนน้ำ และประสบปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ทำให้สถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่และได้รับงบประมาณจากกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ต่อมาเมื่อเกษตรกรมีน้ำใช้เพียงพอต่อการทำการเกษตรแล้ว สถานพีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน ยังเข้าไปส่งเสริมระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และผลักดันเกษตรกรให้หันมาปลูกพืชที่หลากหลาย มีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่บ้านห้วยทรายนั้นมีทั้งดินที่ดีและมีน้ำไว้ใช้เพียงพอต่อการทำการเกษตร
นอกจากนี้ เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาปลูกพืชผสมผสาน มีทั้ง พืชผัก ไม้ผล ซึ่งในขณะนี้ไม้ผลกำลังเริ่มให้ผลผลิต เกษตรกรปลูก มะม่วง ลำไย ส้มเขียวหวาน พริก โดยมีระบบส่งน้ำที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอนได้รับงบประมาณจากกรมพัฒนาที่ดิน มาต่อท่อส่งน้ำ 6 นิ้ว ต่อให้เกษตรกรแต่ละราย เกษตรกรบางรายได้เริ่มต่อสปริงเกอร์ เป็นมินิสปริงเกอร์ มีระบบการส่งน้ำที่หลากหลาย เพื่อใช้รดพืชผลทางการเกษตร
ด้านนายบุญเปง อินตาล เกษตรกรบ้านห้วยทราย กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้ปลูกถั่วเหลือง แล้วไม่มีน้ำเพื่อใช้รดพืชผลทางการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอนเข้ามาส่งเสริมทำแปลงนาขั้นบันได พร้อมทั้งมาสนับสนุนให้ชาวบ้านและเกษตรกรปลูกพืชที่หลากหลาย นอกจากนี้สถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอนยังสนับสนุนท่อส่งน้ำให้กับเกษตรกร ทำให้ได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำห้วยทรายส่งตรงไปยังพื้นที่ทำการเกษตรกร โดยเกษตรกรมีวิธีการใช้น้ำที่หลากหลาย และแบ่งเวรกันใช้น้ำอย่างเป็นระบบ มีน้ำใช้รดพืชผลทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าพื้นที่บ้านห้วยทรายจากเดิมที่เคยแห้งแล้ง เกษตรกรขาดน้ำในการทำการเกษตร และดินที่ไม่สมบูรณ์ ปัจจุบันสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอนได้เข้ามาแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างครบวงจร ทำให้เกษตรกรรู้จักคุณค่าของดิน และรู้จักบริหารจัดการน้ำ ที่เป็นหัวใจหลักของการทำการเกษตรที่ยั่งยืน