หากใครเคยมาเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เดินลัดเลาะริมคลองอัมพวาทางมูลนิธิอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ไปยังบ้านศิลปินและบ้านครูศิลปะหลายแขนง ที่เกิดใน จ.สมุทรสงคราม เช่น บ้านครูศร ศิลปะบรรเลง หรือ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่โด่งดังเรื่องโหมโรง ถัดไปก็เป็นบ้านของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ถัดไปอีก บ้านของครูดนตรีไทย อีกท่านหนึ่ง คือ ด.ร อุทิศ นาคสวัสดิ์ และยังมีบ้านของ ทูล ทองใจ และศรคีรี ศรีประจวบ หลังจากผ่านบ้านดนตรีไทยจะเจอบ้านเครื่องจักรสาน จะมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ฯ ขายสินค้าเบ็ดเตล็ดหน้าบ้าน ส่วนในบ้าน มีคุณยายนั่งจักรตอก หลาวไม้ อยู่บนเตียงแค่ไม้ไผ่สานเป็นรูปภาชนะต่างๆ เช่น หมวกกะโล่ งอบ ตะกร้า กระด้ง ฝาชี และเชี่ยนหมาก แต่ที่ได้รับความสนใจ คือ หมวกกะโล่ และงอบ สำหรับใส่ทำสวน และ พายเรือค้าขายในคลองที่แดดร้อน ปัจจุบันการจักรตอก สานหมวก หรือสานสินค้าอื่นๆ เหลือผู้รู้ ผู้ทำ และผู้สอนน้อยมาก งอบ ยังหาผู้ทำได้ไม่ยาก ยังมีครูอาจารย์ ที่พอสอนได้บ้าง แต่หมวกกะโล่ ไม่มีครูอาจารย์ที่ไหน นอกจาก ยายบุบผา อั้นจินดา อายุ 89 ปี เป็นชาวบางคนที แต่มาสอนสานหมวกที่ ตลาดน้ำอัมพวา เล่าให้ฟังว่า หัดทำหมวกตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พอ 10ขวบ ก็ทำได้แล้ว แรกเริ่มนั่งมองน้า กับ ป้า สานหมวก แล้วแอบทำตามลองผิดลองถูกอยู่นานจนสามารถสานได้ ยายบุบผา บอกอีกว่า แต่รายได้จากการสานหมวกขายไม่พอกิน เพราะต้องเลี้ยงคนพิการถึง 2 คน แต่มีลูกคนเล็กที่ทำงานแล้วส่งเงินมาให้บ้าง พอดีทางมูลนิธิอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ทราบเรื่องเข้า เจ้าหน้าที่ เข้าไปชวนถึงบ้านบอกว่า มีรับสั่งให้มารับป้าไปอยู่ที่ มูลนิธิอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ให้ไปเป็นครูสอนสานหมวกกะโล่ สานงอบ เสนอให้เดือนละ 9,000บาท วันละ 300บาท ก็ตกลง แถมเขายังบอกอีกว่ารายได้จากการขายหมวก และเครื่องจักรสานอื่นๆ ป้ายังจะ ได้เปอร์เซ็นต์สินค้าที่ขายได้อีก ไม่ต้องกลัวตาย กลัวอดอีกต่อไปแล้ว ผ่านมาทางอัมพวา แวะคุยกับคุณยาย บุบผา อั้นจินดา หญิงชรา วัย89 ปี ที่นั่งจักรสาน ใกล้กับเรือนชานชะลา ด้านริมคลองอัมพวา เดินตามถนนเลียบริมคลองอัมพวา ที่จะไปโรงเจกับวัดพระยาญาติ ถ้าได้คุยกับคุณยายบุบผา แล้วเหมือนได้พบกับครูหรืออาจารย์ ท่านหนึ่งที่มีความสามารถศิลปะบวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นับวันจะหาครูหรือผู้รู้วิชาแขนงนี้แทบ ไม่มีแล้ว