ทรงมีความสุขที่ได้ทำเพื่อประชาชน (1) ข้อมูลที่นำเสนอต่อไปนี้ นายตรีวิทย์ วินิชสำเภาทิพย์ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.)เขียนถ่ายทอดไว้ เป็นข้อมูลที่ได้พูดคุยเชิงสัมภาษณ์ในนามสำนักงานกปร.กับผู้ได้เคยตามเสด็จถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรอย่างใกล้ชิดมา คือนายวุฒิ สุมิตร อดีตรองราชเลขาธิการขอนำถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านเพื่อร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย นายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ หรือ “พี่วุฒิ” ของพวกเรา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ติดตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานพัฒนาในระยะแรกๆ ว่า มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกภูมิภาค แม้ว่าอาจจะไม่มีความปลอดภัยและสถานการณ์บ้านเมืองเมื่อก่อน พ.ศ.2500 ถนนหนทางต่างๆ ไม่มีความสะดวกสบาย เช่นปัจจุบัน เรียกว่า รถยนต์วิ่งไปฝุ่นตลบ ตามเสด็จยุคแรกต้องทำหน้าที่หลายอย่าง นายวุฒิ สุมิตรเล่าไว้ว่าการเสด็จฯ ไปประทับแรมในช่วงแรกๆ นั้นคราวละประมาณ 20 วัน จำได้ว่าครั้งแรกเสด็จฯ ไปประทับแรมที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตอนนั้นข้อมูลสถานที่ที่จะเสด็จฯไปทรงงานได้จาก พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร (อดีตนายตำรวจราชสำนักและรองอธิบดีกรมตำรวจ) ซึ่งหน้าที่หลักคือถวายอารักขา ดังนั้นข้อมูลด้านการพัฒนาพื้นที่จึงไม่คอยเต็มที่ สำหรับเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการที่ไปติดตามเสด็จ ก็มีจำนวนไม่พอเวลาก็ไม่พอ วิธีที่จะได้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว คือจดข้อมูลของชาวบ้านจากบัตรประชาชน แล้วค่อยให้นายอำเภอไปติดตามข้อมูลรายละเอียดในภายหลัง ในขณะเดียวกัน นายวุฒิหรือ“พี่วุฒิ” ก็มีหน้าที่เขียนข่าวพระราชสำนักเพื่อเผยแพร่แก่สื่อมวลชนไปพร้อมกันด้วย ราวๆ พ.ศ.2516 เขียนข่าวความยาวข่าวละ 3 หน้า เพราะต้องการใส่รายละเอียดไว้ให้สมบูรณ์เพื่อเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้สามารถกลับมาสืบค้นเป็นประโยชน์ในอนาคต เช่น เสด็จฯโดยเครื่องบินอะไร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่เกี่ยวข้องชื่ออะไรบ้าง ทำให้เนื้อข่าวยืดยาว แต่เดี๋ยวนี้นำมาใช้ประโยชน์ได้ การหาข้อมูลมีข้อจำกัดมาก ทั้งเรื่องข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องพิกัด สมัยนั้นต้องมีรถบรรทุกเครื่องมือ 1 คัน รอให้ดาวเทียมโคจรมาตรงกันจึงจะได้ตัวเลขพิกัดทางแผนที่ยุ่งยากกว่าสมัยนี้มาก ต่อมาการทำงานยิ่งลำบากมากขึ้นเมื่อมีนโยบายให้ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ ที่ติดตามเสด็จ “พี่วุฒิ” นอกจากจะต้องเขียนข่าวแล้วยังต้องเชิญเครื่องเสวย และบ้างครั้งต้องทำหน้าที่ถวายความปลอดภัย เช่น เหตุการณ์ครั้งหนึ่ง มีชาวบ้านเข้ามาใกล้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มือล้วงในย่าม จึงตัดสินใจเข้าไปจับมือผู้ชายคนนั้นไว้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีอาวุธอยู่ในย่ามหรือไม่ แต่ก็โชคดีที่ชายผู้นั้นต้องการจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา แต่นาทีวิกฤติเช่นนี้จำเป็นต้องรวดเร็วไว้ก่อน ส่วนทหาร ตำรวจ ที่ทำหน้าที่ถวายอารักขา จะเป็นราชองค์รักษ์เวรเป็นส่วนใหญ่ ไม่คุ้นเคยและไม่คอยกล้าเข้าใกล้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้น หากเกิดเหตุร้ายอาจจะไม่ทันการณ์ หรือเมื่อเสด็จฯ ไปในพื้นที่พรุโคลนลื่น หรือประทับนั่งลงมีพระราชดำรัสกับราษฎร ก็ต้องคอยระวังใกล้ๆป้องกันไม่ให้ทรงลื่นหรือหกล้ม กล่าวได้ว่า ในเวลานั้นต้องทำหน้าที่หลายอย่างไปพร้อมกัน มาถึงตรงนี้นายตรีวิทย์ วินิชสำเภาทิพย์ถ่ายทอดคำบอกเล่าของนายวุฒิ สุมิตรว่าการที่ทรงพระประชวรเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง มีสาเหตุจากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงงานพัฒนาในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ซึ่งบางครั้งก็ทรงรถพระที่นั่งด้วยพระองค์เองอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9มีพระราชดำรัสกับแพทย์ที่ถวายการรักษาเกี่ยวกับโรคนี้ว่า “ให้หมอไปถามวุฒิ” ซึ่งได้เขียนสาเหตุของอาการพระประชวรให้แก่คณะแพทย์ ความตอนหนึ่งว่า “เราสร้างความมั่นคง ต่อสู้กับความหิวโหย ไมได้สู้กับคอมมิวนิสต์” (อ่านต่อฉบับหน้า)