โฆษกรัฐบาลแจง โมเดลประเทศไทย 4.0 ไม่ทิ้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ตั้งเป้าเปลี่ยนประเทศให้พัฒนาและมีรายได้สูง ภายใน 3-5 ปี เมื่อวันที่ 10 ก.ย.59 พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ 1.0 ที่เน้นภาคการเกษตร ผลิตและขายพืชไร่ พืชสวน เนื้อสัตว์ ไปสู่ประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา ขายรองเท้า กระเป๋า เครื่องนุ่งห่ม และก้าวเข้าสู่โมเดลปัจจุบัน คือประเทศไทย 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก ผลิตและขาย ส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ กลั่นน้ำมัน ปูนซีเมนต์ ฯลฯ “โครงสร้างเศรษฐกิจรูปแบบเดิมที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ฉุดรั้งให้ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปีแล้ว รัฐบาลจึงต้องการเปลี่ยนให้เป็นประเทศไทย 4.0 ที่เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าที่มีเหมือนกันทั่วโลกให้เป็นสินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมธรรมดาให้ใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และเน้นการบริการแทนที่จะเน้นการผลิตสินค้า” พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประสงค์ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่า เมื่อมีนโยบายประเทศไทย 4.0 แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ละเลยภาคการเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรม โดยทั้งหมดจะต้องสนับสนุนเกื้อกูลกัน “ท่านนายกฯ เน้นว่า เราจะต้องเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการจัดการและเทคโนโลยี เช่น เปลี่ยนข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ให้เป็นอาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าสูง เปลี่ยนจาก SMEs ที่รอความช่วยเหลือจากรัฐเป็น Smart SMEs หรือบริษัทเกิดใหม่ (Startup) ที่ขายสินค้าไอเดียใหม่ ๆ เช่น หุ่นยนต์การแพทย์รองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งเปลี่ยนการบริการธรรมดาให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ให้บริการครบวงจรทั้งคำปรึกษา บริหารจัดการ และบริการหลังการขาย และเปลี่ยนแรงงานธรรมดาให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญสูง” ทั้งนี้ รัฐบาลได้เริ่มต้นขับเคลื่อนงานเพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมแล้วหลายด้าน เช่น โครงการ Smart Farmer การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร การส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต การส่งเสริม Startup และ SMEs โดยการให้ทุนและยกเว้นภาษี การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ฯลฯ โดยตั้งเป้าเข้าสู่ยุค 4.0 ให้ได้ภายใน 3-5 ปีนี้ พลตรี สรรเสริญ ยังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีให้ใช้กลไกประชารัฐ ดึงทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาคการเงิน ธนาคาร มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และประชาสังคม เข้ามาร่วมกันทำงานตามความถนัด และมีภาครัฐคอยสนับสนุน เพื่อให้เกิดพลังและความสำเร็จอย่างรวดเร็ว