กลุ่ม Maybank Kim Eng เดินหน้าจัดงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 อย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้มาในหัวข้อ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN INFRASTRUCTURE) โดย Dr. Thia Jang Ping, Lead Economist/Manager, Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ดำเนินรายการโดย Wong Chew Hann, Regional Head of ASEAN Equity Research, Maybank Kim Eng ด้วยการนำเสนอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ ทีมวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้สรุปสาระสำคัญของงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN INFRASTRUCTURE) โดยสรุปภาพรวมเศรษฐกิจและพัฒนาการในช่วงที่ผ่านมา เป็นดังนี้ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างประเทศรายได้สูงและรายได้ต่ำ 2.สภาพคล่องไหลเข้าสู่ Emerging Market ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยเยียวยาผลกระทบจากวิกฤต 3.สถานการณ์ด้านการเงินถือว่าค่อนข้างมีข้อจำกัดจากวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้อยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง สำหรับความเสี่ยงด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และการเงิน/การคลัง แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กระจายวัคซีน (ด้านสุขภาพ) ได้ช้า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะช้าตามไปด้วย 2.การใช้มาตรการด้านการคลังของประเทศต่างๆ ส่งผลให้สถานะด้านการเงิน การคลังเป็นปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ 3.ประเด็นอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น (เช่น ราคาอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ ค่าขนส่ง) ขณะที่ประเด็นด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค มี Investment Gap ระหว่างประเทศ ASEAN ที่กำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใน ASEAN มีช่องว่างในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาธารณสุข (Healthcare) และด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม (Communication) โดยในปี 2018 ประเทศภูมิภาคประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีสัดส่วนการลงทุนต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว (เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น UK) อย่างมีนัยสำคัญ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต : Environment + Technology Change + Supply Shift จะเห็นได้จากการลงทุนในโครงการต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการลงทุนแบบ ไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero Transition) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเทรนด์ที่ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นจากผลของภาวะวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับฝั่งผู้กำหนด นโยบายที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งนำมาสู่การเน้นลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (เช่น Data Center) และปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในประเทศที่ขาดการลงทุนใหม่ที่มากเพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี (Digital Divides) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว หนุนให้กิจกรรมการค้าระหว่างประเทศขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้เครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า อย่าง RCEP ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนธุรกิจ อุตสาหกรรม ในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคอีกด้วย มุมมองต่อประเทศไทย โดยทีมวิจัย เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินว่า ในแง่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย หากพิจารณาใน 2 มุมคือ 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับกับปัญหาวิกฤต COVID-19 ที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ยังพบว่าประเทศไทยมีการลงทุนที่ค่อนข้างน้อย (เช่นเดียวกับประเทศ EM ASEAN อื่นๆ) และหากประกอบกับการกระจายวัคซีนที่ยังถือว่าค่อนข้างช้า ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับกับปัญหาได้ไม่ดีนัก 2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยี หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ใน ASEAN ประเทศไทยถือว่าอยู่ในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะการเข้าถึง Fixed Broadband แต่อย่างไรก็ตามหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังคงมีช่องว่างอยู่พอสมควร โดยสรุปประเด็นต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนและโจทย์ในระยะยาวของภาครัฐ ที่จะต้องแก้ไข รวมถึงส่วนที่ดีอยู่แล้วก็เป็นแนวทางในการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และลดความเสี่ยงจากการเกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีทั้งภายในประเทศเอง และเทียบกับภูมิภาคต่อไป