การรับมือกับต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว การตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ” จึงได้ออกแบบห้องปฏิบัติงานเคลื่อนที่ “รถดมไว” เพื่อนำสุนัขดมกลิ่นไปสนับสนุนภารกิจคัดกรองโรคในพื้นที่ชุมชนของกรมควบคุมโรค หลังการวิจัยพบว่า สุนัขดมกลิ่นมีความแม่นยำในการจำแนกผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากกว่า 96%
โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) และ บริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด (PQA Associates Ltd.) เพื่อพัฒนาทักษะสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ จำนวน 6 ตัว ให้สามารถจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่แสดงอาการออกจากกลุ่มคนปกติได้ และเป็นต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่องานทางการแพทย์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และพบว่าสุนัขสามารถจำแนกผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นเหงื่อได้ถึง 96% และต่อยอดสู่การพัฒนา ห้องปฏิบัติงานเคลื่อนที่ “รถดมไว” นำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบการทำงานของสุนัขดมกลิ่นบนรถดมไว โดยทดลองปฏิบัติงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อนำ “รถดมไว” ไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ชุมชนต่อไป พร้อมอุปกรณ์มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค ซึ่งทำให้ทั้งสุนัขดมกลิ่นและผู้เข้ารับการตรวจมีความปลอดภัย
ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “ข้อดีของการใช้สุนัขดมกลิ่นมี 3 ประการ คือ บอกผลฉับไว ไม่เจ็บ และคัดกรองคนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากผลการวิจัยสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ในเดือนมีนาคม 2564 เราจึงนำสุนัขดมกลิ่นมาปฏิบัติงานจริง โดยเริ่มจากคัดกรองพนักงานของเชฟรอนที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง และช่วยสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ต่อมาเมื่อมีการระบาดของโรคในกรุงเทพฯ สุนัขดมกลิ่นจึงได้เดินทางจากจังหวัดสงขลา มาตั้งจุดตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้บริการคัดกรองแก่บุคลากรจุฬาฯ และผู้ป่วยติดเตียง โดยความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีอาสาสมัครลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหงื่อมาส่งตรวจแล้วจำนวนกว่า 1,500 ราย ทั้งนี้ เป้าหมายต่อไปของโครงการฯ คือขยายการคัดกรองเชิงรุกในคลัสเตอร์ชุมชน จึงร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ออกแบบห้องปฏิบัติงานเคลื่อนที่ ‘รถดมไว’ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการดำเนินงานแล้วในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รวมถึงได้มีการเตรียมความพร้อมและฝึกฝนสุนัขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้สุนัขดมกลิ่นมีความแม่นยำในการจำแนกผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากกว่า 96%”
ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ออกแบบ “รถดมไว” กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของ ‘รถดมไว’ คือ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสุนัขดมกลิ่นคัดกรองโควิด-19 ในการค้นหาเชิงรุก โดยมีการออกแบบให้การทำงานของทั้งสุนัขดมกลิ่นและเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ที่เข้ารับบริการ มีความปลอดภัย สะดวกสบาย และประสิทธิภาพสูงสุด ภายในรถจึงมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเตรียมตัวอย่าง และการปฏิบัติงานของสุนัขอย่างครบครัน และติดตั้งระบบความดันลบในห้องเตรียมตัวอย่าง ระบบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV ในช่องรับส่งตัวอย่าง ห้องเตรียมตัวอย่าง และห้องปฏิบัติงาน ติดตั้งตู้ยาปฐมพยาบาล ถังดับเพลิง ไฟขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และไฟแจ้งเตือนขณะปฏิบัติงานบนรถ อีกทั้งยังมีห้องพักสุนัขสำหรับพักผ่อนในเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน”
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ซึ่งในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้สนับสนุนงบประมาณเกือบ 20 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการสร้าง know-how เพื่อเสริมศักยภาพการรับมือกับการระบาดของโรคให้กับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนสนับสนุนโครงการวิจัยนี้ ซึ่งเชฟรอนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การวิจัยประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สามารถขยายผลสู่การพัฒนา “รถดมไว” ทั้งยังสร้างองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดสู่การฝึกสุนัขเพื่อคัดกรองโรคอื่นๆ ได้ในอนาคต และมีความมุ่งหวังที่จะเห็นการขยายองค์ความรู้สู่ประเทศต่างๆ ที่มีความสนใจในการฝึกสุนัขดมกลิ่นคัดกรองโรค เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาดได้อย่างยั่งยืน”