วันที่ 1 ก.ค.64 เมื่อเวลา 02.31น. ตามเวลาประเทศไทย จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ได้นำส่งดาวเทียม นภา 2 ของกองทัพอากาศไทยขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ และอีก 19 วัน ดาวเทียม นภา 2 จะถูกปล่อยจาก D-orbits ION Satellite Carrier สู่วงโคจรต่อไป ณ สถานีอวกาศ The Cape Canaveral Space Force Station, Florida USA
สำหรับดาวเทียม นภา 2 เป็นดาวเทียมดวงที่ 2 ของกองทัพอากาศที่ยิงขึ้นสู่ชั้นอวกาศ หลังจากที่ได้ปล่อยดาวเทียม นภา 1 ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.63 ณ ฐานยิงจรวด Guiana Space Center, French Guiana ดินแดนของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของทวีปอเมริกาใต้
ดาวเทียม นภา 2 เป็นดาวเทียมประเภท Earth Observation ขนาด 6 U ความละเอียดการถ่ายภาพ 5 m ครอบคลุมขนาดของพื้นที่ 19 km x 19 km และสามารถถ่ายภาพแบบ Multispectral Images เพื่อนำมาวิเคราะห์ เติมเต็ม องค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติของแต่ละประเภทได้ โดยมีหลักการว่าวัตถุต่างชนิดกันสามารถสะท้อนแสงที่ย่านความยาวคลื่นได้ต่างกัน สามารถนำมาวิเคราะห์ความแตกต่างของพื้นที่ได้ แยกพื้นที่น้ำท่วมขังกับพื้นที่ที่เป็นพื้นดินได้ โดยใช้การผสมสีเท็จ (False Color Composite) ที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพพื้นที่เดิมในช่วงเวลาที่แตกต่างกันเก็บสะสมไว้เป็นคลังภาพของพื้นที่ที่เฝ้าสนใจระวังด้านภัยพิบัติได้ โดยสามารถนำภาพจากคลังภาพมาเปรียบเทียบกันให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ ทำให้เข้าใจถึงสาเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น รวมถึงทำนายแนวโน้มของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังสามารถให้ภาพสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วเหมาะสมต่อการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนภารกิจการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย
ทั้งนี้กองทัพอากาศ ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อมิติความมั่นคงในอวกาศ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของชาติ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา และนับเป็นผลประโยชน์ของชาติในการนำพื้นที่อวกาศเข้ามาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่สามารถช่วยสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งภาพถ่ายจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth Observation Satellite) นั้น เป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหา ลดอุปสรรคดังกล่าวลงได้ โดยดาวเทียม NAPA-1 และ NAPA-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมของกองทัพอากาศนั้น มีอุปกรณ์ตรวจจับ (Sensors) ที่สามารถมาประยุกต์ใช้เพื่อบรรเทาภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการของกองทัพอากาศ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทำให้ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพต่อไป