เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลงและการบินเกษตร ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก และกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติการฝนหลวง ในด้านกำลังพล อากาศยาน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก โดยมี 2 ภารกิจหลักในการช่วยเหลือเกษตรกร คือ การบรรเทาปัญหาภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง และการเติมน้ำในเขื่อนเพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในการเพาะปลูก จากแผนที่อากาศผิวพื้น ของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 07.00 น. พบว่าหย่อมความกดอากาศต่ำที่อยู่ทางตอนบนของประเทศเวียดนาม และประเทศลาว ได้ขยับสูงขึ้นส่งผลให้ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนลดลง คงเหลือเพียงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้นที่จะมีอิทธิพลทำให้เกิดฝนตก โดยที่เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.64) นายวีระพล สุดชาฎา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ร่วมกับนายไพทูรย์ โกเมนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดชลบุรี เกษตรอำเภอบ่อทอง นายสำเรียน จันทร์น้อย อาสาสมัครฝนหลวงดีเด่น เหล่าอาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดชลบุรี และผู้นำชุมชน ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลความต้องการน้ำและสำรวจพื้นที่บริเวณ อ.บ่อทอง อ.บ้านบึง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ว่าขณะนี้พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานได้เริ่มปลูกข้าวนาปี จำนวน 7,000 ไร่ มันสำปะหลัง ระยะเจริญเติบโต จำนวน 37,000 ไร่ อ้อยโรงงาน จำนวน 28,000 ไร่ สัปปะรด จำนวน 4,500 ไร่ รวม 3 อำเภอ พื้นที่การเกษตรประมาณ 78,000 ไร่ กำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ต้องการน้ำฝนในการเพาะปลูก ทั้งนี้หน่วยฯ จ.สระแก้ว ที่รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ นับได้ว่ามีผลที่น่าพอใจในหลายพื้นที่ โดยทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดพะเยา ลำปาง กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร ชัยภูมิ สุพรรณบุรี อ่างทอง อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี กาฬสินธุ์ สกลนคร อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว พัทลุง สุราษฎร์ธานี เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน จำนวน 3 แห่ง อ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง ในส่วนของการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการ ฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า มีบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ หน่วยฯ จ.สุรินทร์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ศรีสะเกษ ยโสธร หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา อย่างไรก็ตาม สำหรับ 9 หน่วยปฏิบัติการ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100