ปัจจุบันปัญหาขยะยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินโครงการ Care the Whale “ขยะล่องหน” ตั้งแต่ปลายปี 2562 เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมย่านรัชดา ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ย่านรัชดา เป็นโครงการต้นแบบในการจัดการขยะ อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาขยะอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อสุขภาพมากขึ้น ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพันธมิตรโครงการ Care the Whale ร่วมกับเพจ “Environman” จัด Live Talk ในหัวข้อ “ขยะล่องหน รวมพลคนแยกขยะ” พูดคุยถึงปัญหาขยะจะส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างไร หาทางออกทำให้ขยะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป เปลี่ยนพฤติกรรมแยกขยะเพิ่มมูลค่าและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พร้อมทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรู้จักโครงการ Care the Whale ความร่วมมือระดับองค์กรในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกัน การ Live Talk รับเกียรติจากวิทยากรร่วมพูดคุยหลากหลาย ทั้ง นพ. วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ CEO บมจ. บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” และนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีศิรัถยา อิศรภักดี เป็นผู้ดำเนินรายการ นพเก้า สุจริตกุล กล่าวว่า โครงการ Care the Whale เราเป็นจุดเล็ก ๆ และเป็นความพยายาม ซึ่งปัญหาขยะนี้กว้างใหญ่ไพศาล และเป็นปัญหาที่สะสมมา 40-50 ปี โดยพลาสติกก็เป็นวัสดุที่เกิดจากการประดิษฐ์ของมนุษย์ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ที่ไม่สามารถย่อยสลายแบบห่วงโซ่ทางธรรมชาติได้ ฉะนั้นปัญหามันเรื้อรังมานาน แต่วันนี้เราเป็นโหนดเล็ก ๆ แต่ละโหนดที่ทำงานเชื่อมกันได้ในพื้นที่รัชดา และสามารเชื่อมกับพื้นที่อื่น ๆ จากการถอดบทเรียนพื้นที่รัชดาในการคัดแยกขยะ ทำให้เราได้เป็นมุมของการขับเคลื่อนในส่วนของผู้ประกอบการ ได้รับทั้งความรู้ ประสบการณ์ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายไปที่ชุมชนอื่น ๆ ถือว่าเป็นพื้นที่ในการทำ R&D เพราะว่ามีขยะมากมาย ที่สามารถนำมาทำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ได้ ฉะนั้นทุกคนเป็นพื้นที่ของนวัตกรรม ที่สำคัญคือการพัฒนาความคิดของคน และได้ Know-how จากคนทำงานเบื้องหลัง โดยเฉพาะแม่บ้าน ซึ่งสะท้อนบทเรียนได้เป็นอย่างดี และรัชดาก็เป็นต้นแบบที่สะท้อนนโยบายสู่การเป็นนโยบายสาธารณะได้ดีอีกด้วย เปรม พฤกษ์ทยานนท์ กล่าวถึง ถ้าเปรียบเทียบเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสุขภาพเรา ตอนที่เรายังไม่ป่วยเราอยากกินอะไรเราก็กิน อยากจะทำอะไรเราก็ทำ อยากนอนดึกก็นอน แต่ถ้าเราทำพฤติกรรมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะป่วยซึ่งเราแก้ไม่ได้แล้ว ไม่ทันเวลา เหมือนกันกับสิ่งแวดล้อม เราเห็นแล้วว่าถ้าทำอย่างนี้วันหนึ่งสิ่งแวดล้อมจะแย่ วันหนึ่งอากาศจะหายใจไม่ได้ วันหนึ่งในทะเลถ้าตกปลาจะได้พลาสติกมาแทน คือเราเห็นปลายทางว่าถ้าเราทำพฤติกรรมแบบนี้ ปลายทางจะเป็นแบบนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่เราว่าจะทำอย่างไร เราจะออกกำลังกาย หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไหมถ้าไม่เปลี่ยนก็เตรียมตัวป่วย ถ้าไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม อนาคตสิ่งแวดล้อมก็จะพัง ก็มีอยู่สองอย่างจะป้องกันไว้ หรือจะไปแก้ทีหลัง ถ้าแก้ที่หลังก็ไม่แน่ว่าจะแก้ได้หรือไม่ได้ นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โฟม และพลาสติก กับปัญหาสุขภาพ เรารู้กันมานานแล้วว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร แต่จะมีข้อถกเถียงกันว่าเท่าไหร่ แค่ไหนถึงจะเป็นมะเร็ง หรือจะเป็นโรค จริงๆทางการแพทย์เราไม่สามารถบอกได้ว่าเท่าไหร่ แต่เราบอกได้ว่าจากการทดลองในสัตว์ทดลอง ยิ่งทานอาหารจากโฟมเยอะ ๆ มีโอกาสเป็นมะเร็ง หรือเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เหมือนกับเราสูบบุหรี่ เราบอกไม่ได้ว่าสูบบุหรี่แค่ไหนถึงจะเป็นมะเร็ง แต่การสูบบุหรี่เยอะ ๆ จะมี โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอด เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ทิ้งท้าย Live Talk “ขยะล่องหน รวมพลคนแยกขยะ” ว่า เราไม่รู้เลยว่าโลกที่เราอยู่ หรือบ้านที่เราอยู่เราใส่ขยะกันไปมากน้อยแค่ไหน เปรม มากล่าวย้ำว่า เฉลี่ยเราสร้างขยะวันละ 1.1 กิโลกรัมต่อวันต่อคน แน่นอนขยะเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวเราเท่านั้นแต่บางส่วนมันปลิวไปที่อื่น และนพเก้า กล่าวว่า สิ่งที่คนในย่านรัชดาเห็นตรงกันและอยากทำ รู้ว่าจะต้องทำ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทางเปรมได้แนะนำหาคนรับให้ได้ก่อน ไม่ต้องเริ่มจากแยก แต่ควรจะหาปลายทางก่อน และจะส่งขยะไปไหน ถ้าไม่รู้จะถามใคร ถามแม่บ้าน หรือลุงซาเล้ง แถวละแวกบ้านก็ได้ ง่ายกว่านั้นขอแค่วันละชิ้น เริ่มจากลด และใช้ซ้ำ และท้ายที่สุดไปเผาทำพลังงาน แต่อย่าทิ้งขยะไม่เป็นที่ นี่คือสิ่งที่แต่ละท่านแนะนำและสุดท้าย หมอชี้ชัดว่าเราอย่ามองแค่ว่าต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่ายมันเป็นแค่วัสดุเพราะมันมีต้นทุนชีวิต มีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม และขยะซึ่งเป็นภาระให้กับลูกหลานที่ยังไม่สามารถประเมินค่าได้ ฉะนั้นเราควรกันไว้ดีกว่าแก้ โดยผู้สนใจข้อมูลสามารถชม Live Talk ย้อนหลังได้ทาง Facebook Care the Whale หรือ Facebook SET Thailand