บรรยากาศการรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเขย่าระบบสาธารณสุขทั่วโลก ณ ชั่วโมงนี้ ก็ต้องบอกด้วยสำนวนแบบบ้านๆ ว่า ถ้าหลายฝ่ายไม่สู้ ก็ไม่มีประตูชนะ คือ มีแต่แพ้ลูกเดียว
เพราะเจ้าไวรัสตัวร้าย ยัง “กลายพันธุ์” อย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็น “สายพันธุ์ใหม่” สารพัด ตามการเรียกขานตั้งชื่อให้โดย “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูชเอชโอ” (ฮู) แทนการเรียกตามชื่อประเทศต้นกำเนิดการกลายพันธุ์ อาทิ
สายพันธุ์เดลตา พบการแพร่ระบาดครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย
สายพันธุ์เบตา พบการแพร่ระบาดครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้
สายพันธุ์อัลฟา พบการแพร่ระบาดครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ
และสายพันธุ์แกมมา พบการแพร่ระบาดครั้งแรกที่ประเทศบราซิล เป็นต้น
โดยบรรดาไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ออกไปเหล่านี้ จากการศึกษาติดตามสถานการณ์ของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ระบุว่า แพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือที่มีการกลายพันธุ์กันก่อนหน้า และยังทำให้มีอาการป่วยรุนแรงขึ้น รวมถึงยังมีความร้ายกาจในเรื่องการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน หรือทำให้ภูมิคุ้มกันลดประสิทธิภาพลง ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ว่า ก็หมายถึงภูมิคุ้มกันทั้งจากผู้เคยป่วยด้วยโรคโควิด – 19 ที่รับการรักษาให้หายดีกันก่อนหน้า ตลอดจนภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขนานต่างๆ ที่มีใช้กันอยู่ ณ เวลานี้ อีกต่างหากด้วย
ส่งผลให้ต้องกลับมาขบคิดกันใหม่ ถึงแนวทางการใช้วัคซีน ในฐานะชีววัตถุ ที่ใช้สำหรับสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ป้องกันผู้คนติดเชื้อโรค ซึ่งวัคซีนที่ว่า ก็เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคร้าย
บ้างก็กลับไปคิดค้นวิจัยพัฒนาวัคซีนขนานใหม่ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างเท่าเทียมทัน โดยบริษัทเวชภัณฑ์ต่าง เช่น ไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค แอสตราเซเนกา เป็นอาทิ
บ้างก็ใช้วิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนขนานต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีฉีดกันคนละ 2 เข็ม หรือ 2 โดส กันอยู่แล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็น ฉีด 2 เข็มเช่นกัน แต่ฉีดกันด้วยวัคซีนต่างขนาน ต่างยี่ห้อ โดยมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนให้สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้ดียิ่งขึ้นกว่าการใช้วัคซีนขนานเดียวกัน หรือยี่ห้อเดียวกัน จำนวน 2 เข็ม
ว่าแล้ว การฉีดวัคซีนต่างขนาน ต่างยี่ห้อ หรือที่เรียกกันเป็นทางการว่า “การฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน (Mix –and-Match)” จึงได้บังเกิดขึ้น
ก่อนที่สำนักวิชาการ สถาบันทางการแพทย์ ในประเทศต่าง ดำเนินการทดลองศึกษาวิจัยต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนด้วยรูปแบบดังกล่าว จะเรียกว่า เป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับโควิด-19สายพันธุ์ใหม่แบบสู้ไปพลางๆ ก่อน ระหว่างที่โลกกำลังรอคอยวัคซีนขนานใหม่ๆ จะออกมา เพื่อใช้ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้อย่างแท้จริง เพราะต้องใช้เวลาสำหรับการวิจัยพัฒนากันอยู่พอสมควร
ด้วยประการฉะนี้ สถาบันทางการแพทย์ในหลายๆ ประเทศ ได้ศึกษาทดลองการใช้รูปแบบการฉีดวัคซีนผสมผสาน ในการต่อสู้ไวรัสโควิด19 พันธุ์ใหม่สารพัดสายพันธุ์ ได้แก่
“สถาบันสุขภาพคาร์ลอส ที่ 3” ประเทศสเปน ได้ศึกษาทดลองการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน โดยการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง เข็มแรกใช้วัคซีนขนานแอสตราเซเนกา ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ส่วนเข็มที่สอง ใช้วัคซีนขนานไฟเซอร์ ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ สหรัฐฯ และบริษัทไบโอเอ็นเทค เยอรมนี ผลการทดลอง ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างมีความปลอดภัยดี แถมภูมิคุ้มกันในร่างกายของกลุ่มตัวอย่าง ก็มีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ค่อนข้างสูง ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ว่า หรือ “อิมมูโนโกลบูลินจี (IgG)” ซึ่งเป็นแอนติบอดีชนิดหนึ่งในกระแสเลือดของมีปริมาณสูงกว่าผู้ที่รับวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา แต่เพียงขนานทั้งสองเข็ม จำนวนมากถึง 30 – 40 เท่า
เช่นเดียวกับที่ประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก็มีการศึกษาทดลองการฉีดวัคซีนแบบผสมผสานด้วยเหมือนกัน ระหว่างแอสตราเซเนกา กับไฟเซอร์ ปรากฏว่า ได้ผลประสิทธิภาพด้านการป้องกันไวรัสดีขึ้น และปลอดภัยดี ถึงแม้ว่า ในการศึกษาทดลองได้พบอาการข้างเคียงในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้น แต่อาการก็ไม่รุนแรงมาก เช่น อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เป็นต้น แต่ไม่นานก็หาย
ส่วนที่ประเทศแคนาดา ก็ได้ศึกษาทดลองการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน ก็ได้ผลการทดลองเช่นเดียวกับบรรดาประเทศข้างต้น คือ มีประสิทธิภาพด้านการป้องกันไวรัสสูงขึ้น และปลอดภัย รวมถึงไม่มีรายงานว่า พบภาวะลิ่มเลือดอุตันในกลุ่มตัวอย่างด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เป็นที่วิตกกันว่า การฉีดวัคซีนบางขนาน เช่น แอสตราเซเนกา ได้ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ฉีดบางราย แต่ขนานที่สองใช้วัคซีนของไฟเซอร์
นอกจากนี้ ที่ประเทศเยอรมนี โดยโรงเรียนการแพทย์เมืองฮันโนเวอร์ ได้ศึกษาทดลองการฉีดวัคซีนแบบผสมผสานในกลุ่มตัวอย่าง และยังได้เปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในการทดลองไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ต่างๆ อีกต่างหากด้วย
โดยการทดลองเข็มแรกใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา ส่วนเข็มที่สองใช้วัคซีนประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอ ซึ่งได้แก่ ขนานของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยในครั้งนี้ใช้ขนานไฟเซอร์ ผลปรากฏว่า ทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบกับการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเพียงขนานเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพที่ว่า ยังหมายถึงการป้องกันไวรัสโควิ-19 สายพันธุ์เบตา อัลฟา และแกมมา ปรากฏว่า วัคซีนแบบผสมผสาน มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่าการใช้วัคซีนขนานเดียวทั้ง 2 เข็ม
ผลจากการศึกษาทดลองดังกล่าว เริ่มทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มปรับยุทธศาสตร์โครงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 กันบ้างแล้ว เช่น ที่เกาหลีใต้ ซึ่งฉีดเข็มแรกให้แก่ประชานด้วยวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา ก็ได้ปรับมาใช้วัคซีนขนานไฟเซอร์ ฉีดให้แก่ประชาชนเป็นเข็มที่ 2 ซึ่งการปรับมาใช้วิธีการฉีดแบบผสมผสานเช่นนี้ นอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้นแล้ว ก็ยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนวัคซีน เพราะบริษัทผู้ผลิต จัดส่งวัคซีนล่าช้า ไม่มาตามนัด คือ ไม่ต้องผูกขาดนำเข้าวัคซีนรายใดรายหนึ่ง แต่สั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนให้กระจายหลายขนาน ก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปได้อีกโสดหนึ่ง