เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 นายนิกร แซ่อึ้ง นายชลิต โกสินทจิตต์ นายพี แซ่อึ้ง ตัวแทนชาวบ้านม.1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้นัดหมายพูดคุยกับ น.ส.ณัชชา เปรื่องปราด เจ้าของโรงงานกำจัดขยะแห้งหนึ่ง ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ชุมชน เลขที่ 80/5 หมู่ 1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งประกอบกิจการจัดเก็บขยะจากชุมชนในพื้นที่อบต.มาบไผ่และเป็นสถานที่ทิ้งขยะของเทศบาล-อบต.ต่างๆในพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่ขนขยะชุมชนมารีไซเคิล ก่อนนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ โดยก่อนหน้านี้ นางวิภา อำไพ อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 98 ม.1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ อบต.มาบไผ่(องค์การบริหารส่วนตำบลมาบไผ่) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 และร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ้านบึง จากนายพี แซ่อึ้ง บ้านเลขที่ 76/16 ม.1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ในวันที่ 20 มกราคม 2563 กรณีได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของโรงงานขยะดังกล่าว โดยกลิ่นขยะได้รบกวนชาวบ้านในระแวกพื้นที่ ม.1 ต.มาบไผ่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านข้างเคียง บางรายถึงต้องล้มป่วย เวียนหัว ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.มาบไผ่ ได้ลงตรวจสอบโรงงานตามที่ได้รับร้องเรียน พบว่ามีกองขยะที่คัดแยกแล้วกองอยู่จำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นตามที่มีการร้องเรียนจริง จากการสอบถามผู้ประกอบการให้การว่ารอการส่งไปกำจัดที่บริษัท TPI ซึ่งรถขนส่งมีจำนวนไม่เพียงพอ ชำรุดอยู่ระหว่างซ่อมแซมและจะรีบขนย้ายขยะที่ตกค้างออกโดยเร็ว ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอบต.ได้แจ้งให้โรงงานดำเนินการแก้ไขเรื่องปัญหาการส่งกลิ่น โดยให้เพิ่มสเปย์น้ำ และฉีดยาพ่นเป็นระยะไปที่กองขยะ กั้นแนวเสาเพิ่มกันกลิ่น ในอนาคตให้สร้างโรงเรือนระบบปิด ดำเนินการขนขยะตกค้างทิ้งทั้งหมด ให้ทางโรงงานแจ้งเทศบาล-อบต.ที่ขนขยะมาทิ้งห้ามไม่ให้มีน้ำขยะจากรถขนขยะตกใส่พื้นผิวถนน กรณีรถขนส่งเสียหาย ให้จ้างรถขนส่งมาจัดส่งแทน ทำความสะอาดพื้นถนนที่น้ำขยะตกหล่นเพื่อแก้ปัญหาการส่งกลิ่น ผู้สื่อข่าวรายงานกว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวที่กองสาธารณสุข อบต.มาบไผ่ ได้ให้โรงงานทำบันทึกข้อตกลงกับชาวบ้านนั้น ก็ไม่ทำให้ปัญหากลิ่นขยะรบกวนชาวบ้านลดน้อยลงแต่อย่างใด โดย น.ส.วัลยา (กิ๊บ) ภัทรวิริยสกุล อดีตผู้สมัครส.อบจ.ชลบุรี เขต3 บ้านบึง กลุ่มก้าวหน้า ที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน จึงได้นัดหมายให้เจ้าของโรงงานกับตัวแทนชาวบ้านได้มีการพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งการเจรจา นายชลิตและนายนิกร ได้แจ้งความประสงค์ของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานมายาวนาน โดยให้ทางโรงงานดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องการส่งกลิ่นของขยะ ทางโรงงานแจ้งว่าพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่ขยะส่งกลิ่นเหม็น ที่ผ่านมาทางจนท.อุตสาหกรรมจ.ชลบุรีแนะน้ำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ น้ำยาพ่นดับกลิ่น ทางโรงงานก็ไปซื้อมาติดตั้งแต่มันก็ไม่ได้ผล เพราะกลิ่นขยะจะโชยกลิ่นในเวลาที่มีการตักขยะขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปกำจัดและฝังกลบ นายชลิตและนายนิกร ได้เสนอให้มีการสร้างโรงเรือนเก็บขยะและขนส่งให้เป็นระบบปิด เพื่อไม่ให้กลิ่นโชยออกในเวลาที่ตักขยะขึ้นรถ โดยยินดีที่จะสำรองเงินทุนในการก่อสร้างให้กับโรงงานโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย เพราะทราบดีว่าทางโรงงานขาดสภาพคล่อง ถ้ารอให้หาทุนมาก่อสร้างตัวอาคารก็คงจะต้องใช้เวลาอีกนานเป็นปี โดยโรงงานได้แจ้งให้ทางตัวแทนชาวบ้านทราบว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถหยุดการรับขยะจากเทศบาลและอบต.อื่น ๆ ได้นั้นเพราะมีการเซ็นสัญญาจ้างไว้กับเทศบาลกับอบต.จำนวนหลายแห่งในพื้นที่จ.ชลบุรี ถ้าโรงงานไม่เปิดให้ทิ้งขยะก็จะถูกฟ้องร้อง แต่ในส่วนการเก็บขยะในพื้นที่ อบต.มาบไผ่นั้นทางอบต.ไม่ได้ว่าจ้างหรือให้งบสนับสนุน แต่ให้โรงงานเก็บขยะชุมชน โดยให้ไปเรียกค่าเก็บขยะจากชาวบ้านในพื้นที่เอง ในอัตราเดือนละ 50 บาทบ้าง 30 บาทบ้าง อบต.มาบไผ่ไม่เคยสนับสนุนหรือให้เงินทางโรงงานแต่อย่างใดแต่ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องทำเพราะเครื่องจักรในการคัดแยกขยะก็ไปกู้ธนาคารซื้อมา แต่หลังจากที่ทางโรงงานหมดสัญญากับเทศบาลและอบต.ก็จะลดปริมาณในการรับขยะลง เพื่อไม่ให้ชาวบ้านที่ใกล้เคียงเดือดร้อน นายชลิต กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ก็ได้พูดคุยกับทางโรงงานแล้วว่ายังไงก็ให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ให้ใครเดือดร้อน โรงงานก็ต้องทำมาหากินแต่จะทำอย่างไรถึงจะไม่ให้กลิ่นขยะออกมารบกวนชาวบ้าน เบื้องต้นก็มีการตกลงกันว่าจะต้องทำโรงเรือนระบบปิด โดยทางนายนิกร แซ่อึ้ง ซึ่งเป็นนักธุรกิจในพื้นที่ เป็นลูกหลานคนมาบไผ่ก็จะเป็นผู้สำรองจ่ายเงินในการก่อสร้างไปก่อนโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะทราบดีกว่าทางโรงงานขณะนี้ก็ขาดสภาพคล่อง ถ้ารอให้โรงงานแก้ไขเองก็ต้องใช้เวลาอีกนาน ชาวบ้านที่เดือดร้อนเขาทนไม่ไหวเขาไม่รอการแก้ปัญหาของอบต.มาบไผ่เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านร้องเรียนผ่านไป 1 ปีก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ อีกทั้งตัวแทนชาวบ้านจะขอเข้าพบนายกอบต.เพื่อแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้รับทราบก็ไม่ยอมให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้พบเพียงแต่ให้จนท.สาธารณสุขมาตรวจสอบโรงงานวนเวียนอยู่อย่างนั้น”