แปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ผลิตจิ้งหรีดได้มาตรฐาน GAP เกษตรกรมีรายได้เสริมสู่ครัวเรือน พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าจำหน่าย เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายสุขใจ ไชยวารี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพหลักคือทำนาเพียงอย่างเดียว หลังจากทำนาจึงไม่มีอาชีพและรายได้เข้ามาใช้สอยในครัวเรือน จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อหาแนวทางที่จะทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว โดยคิดว่าจะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ เช่น แมงกะซอน ตั๊กแตน มวลลำไย แมงขนุน และจิ้งหรีด ซึ่งแมลงเหล่านี้มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แต่นับวันจะมีจำนวนน้อยลงและมีราคาสูงขึ้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับได้มีแม่ค้านำจิ้งหรีดที่เลี้ยงมาขายที่ตลาด ทางกลุ่มจึงมีความสนใจที่จะเลี้ยงจิ้งหรีด และมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานในจังหวัดต่างๆ ทำให้พอจะเห็นลู่ทางทำอาชีพ ต่อมาในปี 2559 ได้ทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดรุ่นแรกและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ และได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2561 ใช้ชื่อว่า “กลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด)” ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) มีสมาชิกจำนวน 31 คน พื้นที่การเลี้ยง 300 ไร่ เลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง สะดิ้ง และจี้โกร่ง โดยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของสมาชิกภายในกลุ่ม ซึ่งการเลี้ยงในแต่ละรอบนั้น จะต้องมีการวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า มุ่งเน้นลดต้นทุนการผลิต ซึ่งก็คืออาหารสัตว์ โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น รำข้าว ข้าวโพดบด และกากถั่วเหลือง มาเป็นส่วนผสม ซึ่งหาซื้อได้ง่าย มีราคาถูกแล้ว และยังเป็นการช่วยอุดหนุนเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้อีกด้วย สำหรับการเพิ่มผลผลิต ทางกลุ่มจะดูแลประชากรของแมลงไม่ให้อยู่อย่างแออัดจนเกินไป และจะคัดแยกจิ้งหรีดให้มีขนาดสม่ำเสมอกันทั้งบ่อ เพื่อให้จิ้งหรีดตัวเล็กได้รับอาหารเต็มที่ และเติบโตจนมีขนาดตามที่ตลาดต้องการได้ ทั้งนี้สมาชิกกลุ่มได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยสินค้าต้องได้รับรองมาตรฐานการจัดการฟาร์มจิ้งหรีดที่ดี (GAP) ขณะนี้มีสมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มไปแล้ว จำนวน 8 ฟาร์ม ด้านการตลาด ทางกลุ่มสามารถจำหน่ายผลผลิตจิ้งหรีดฟรีซแช่แข็งได้จำนวน 24 ตันต่อปี ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 90-100 บาท โดยส่งจำหน่ายให้ทางห้องเย็นสุโขทัย และบริษัท โปรทานิก้า จำกัด นอกจากนี้ทางกลุ่ม ยังมีการแปรรูปเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และลดการสูญเสีย โดยนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านอาหารเข้ามาใช้ในการผลิต ผงจิ้งหรีด ผงจิ้งหรีดสกัดไขมัน และผงโปรตีนจิ้งหรีด ซึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์นั้น ทางกลุ่มฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดี (GMP) สำหรับโรงแปรรูปอาหารด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันในด้านคุณภาพสินค้า เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในมาตรฐานการผลิต สำหรับสินค้าที่ทางกลุ่มแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวเกรียบจิ้งหรีด น้ำพริกจิ้งหรีด จิ้งหรีดอบกรอบ ผงจิ้งหรีด ผงจิ้งหรีดสกัดไขมัน และผงโปรตีนจิ้งหรีด เป็นต้น นอกจากนี้ ทางกลุ่มเกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรม เครื่องจักรกลสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต โดยนำนวัตกรรมโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการตากแมลง ก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นจิ้งหรีดผงต่อไป ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการใช้ไฟฟ้าในการอบแห้ง รวมทั้งยังนำเทคโนโลยีด้านการบรรจุโดยใช้เครื่องซีลและเติมไนไตรเจน เข้ามาใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บสินค้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่แปรรูป ทางกลุ่มฯ จะส่งจำหน่ายตลาดในชุมชน และมีพ่อค้าจากกรุงเทพฯ มารับซื้อถึงที่ทำการของกลุ่มแปลงใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม และสำนักงานเกษตรอำเภอเรณูนคร ได้เข้ามาส่งเสริมให้กลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เข้าสู่โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยทางกลุ่มได้นำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนมาจัดซื้ออุปกรณ์และปรับปรุงสถานที่ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้แก่ เครื่องบดละเอียด จำนวน 1 เครื่อง เครื่องผสมแป้งทำจากสแตนเลส จำนวน 1 เครื่อง เครื่องหั่นข้าวเกรียบ หม้อต้มจิ้งหรีด มีระบบเทแบบสวิง จำนวน 1 ใบ หม้อนึ่งเจ็ดชั้น จำนวน 2 ใบ โต้ะสแตนเลส จำนวน 4 ตัว หม้อทอดแก๊สควบคุมอุณหภูมิและตั้งเวลาทำงานได้ จำนวน 1 หม้อ เตาแก๊สสแตนเลส ชนิด 3 หัว จำนวน 1 ชุด ห้องเย็น ความจุ 5 ตัน พร้อมระบบไฟฟ้า จำนวน 1 หลัง และดำเนินการต่อเติมอาคารแปรรูปผลผลิตขนาด 7x8 เมตร จำนวน 1 หลัง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร เพิ่มความหลากหลายของสินค้าแปรรูป เพิ่มโอกาสทางการตลาด รวมทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตรต่อไปในอนาคตอีกด้วย