จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดพิธีลงนาม MOU การร่วมผลิตบัณฑิตและจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน ระหว่าง ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วันที่ 29 มิถุนายน 2564. ที่ห้องประชุมอโยธยา ชั้น 3 อาคาร 4 ชั้น ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการร่วมผลิตบัณฑิตและจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน ระหว่าง ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มี นายประทีป การมิตรี ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา/ผอ.ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ผศ.ดร.ธาตรี มหันตรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมลงนามความร่วมมือฯ โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ด้วย ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ได้จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลญี่ปุ่น นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา และเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาพรยืนนาน ๑๐๐ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถาบันวิจัยระดับชาติด้านอยุธยาศึกษา โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทยสมัยที่ พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เรื่องประวัติศาสตร์อยุธยา โดยเฉพาะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เสนอการแสดงสิ่งจำลองที่ได้ค้นคว้าจากการวิจัย ตลอดจนเป็นศูนย์ข้อมูล และห้องสมุดประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์อยุธยา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๙ เห็นชอบให้ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจังหวัดได้มอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหน่วยบริหารจัดการศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา โดยมี ปลัดจังหวัดศรีอยุธยาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เพื่อให้ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและแสวงหาพันธมิตรร่วมในการพัฒนาศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ให้เป็นสถานที่เริ่มต้นในการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ของจังหวัดฯ และเพื่อนำไปสู่หน้าที่ประการที่ ๔ คือการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในเรื่องให้การศึกษาประวัติศาสตร์ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการร่วมผลิตบัณฑิตและจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงานขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือดำเนินการร่วมผลิตบัณฑิตและจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงานเพื่อการพัฒนา บริหารหลักสูตร และพัฒนาคุณลักษณะ ทักษะ และสมรรถณะของนักศึกษาตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนด (Learning Outcome) ด้วยการจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Leanning: WIL) ให้แก่นักศึกษาด้วยการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ในชั้นเรียน หรือสถาบันอุดมศึกษากับประสบการณ์การทำงานในสภาพจริงขององค์กรร่วมผลิต ที่ได้รับการออกแบบไว้ในหลักสูตรอย่างเป็นระบบเพื่อให้นักศึกษาบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนด