เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดตามมาตรการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 25 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันนี้ว่า มาตรการที่ออกมาผ่านกระบวนการคิดที่ไม่รอบด้าน ไม่ทันการณ์ และเลือกปฏิบัติ จึงมีความกังวลว่าจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบอีกหลายกลุ่ม เพราะครั้งนี้รัฐบาลเยียวยากลุ่มลูกจ้างและนายจ้าง เพียง 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจก่อสร้าง 2.ที่พักแรม และ 3.กิจกรรมด้านอาหาร ศิลปะบันเทิงและนันทนาการ ในพื้นที่ 6 จังหวัด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยไม่ระบุประเภทของธุรกิจและแรงงานให้ชัดเจน สร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชนที่สิ้นหวังและยังไม่เคยได้รับเงินเยียวยา จึงอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงให้ชัดเจน และอย่าละทิ้งผู้ประกอบการและแรงงานกลุ่มร้านนวด สปา คลินิกเสริมความงาม ฟิตเนสเซนเตอร์ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้างอนุมัติรับรอง เช่น นักดนตรีอิสระ และแรงงานต่างด้าว ธุรกิจก่อสร้างรายเล็กที่ไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนด รวมทั้งต้องพิจารณาเยียวยาธุรกิจในจังหวัดอื่นๆ ที่มีการระบาดหนักเช่นกันด้วย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นหัวใจของธุรกิจภาคบริการ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลายกลุ่มได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด ต่อเนื่องจนมาถึงการระบาดทั้ง 3 ระลอก ทำให้หลายธุรกิจล้มหายตายจากไปนับไม่ถ้วน
“ความเสียหายของผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน ล้วนเกิดจากการบริหารที่ล้มเหลว ผิดพลาดและมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งที่ต้นทางของการระบาดทั้ง 3 ระลอก ความผิดไม่ได้มาจากประชาชน แต่ตอนนี้พวกเขากลับเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ได้รับความลำบากอย่างแสนสาหัส การจะออกมาตรการเยียวยาใดๆ ต้องทำอย่างทั่วถึง ทันการณ์ และเท่าเทียม เมื่อกู้มาแล้วต้องจ่ายให้ถึงมือประชาชนด้วย ผมอยากถามพล.อ.ประยุทธ์ เหลือเกินว่าท่านเคยได้ยินเสียงประชาชนร่ำไห้บ้างหรือไม่"นายชนินทร์ กล่าว