มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้สู่การส่งเสริมอาชีพ ลงพื้นที่ ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลักดันวิถีชุมชน พร้อมชูภูมิปัญญาท้องถิ่นเคยขัดน้ำ และพัฒนาประมงพื้นบ้านสู่มาตรฐานการขายสร้างรายได้หลักเป็นเศรษฐกิจบนโลกดิจิทัล จากการดำเนินการสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะอาชีพ สำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2563 หวังสร้างศักยภาพให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรส. และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่การส่งเสริมอาชีพโดยชุมชนเป็นฐาน ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า คณะทำงานได้ดำเนินการส่งเสริมการมีงานทำ สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่น ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยแห่งการบูรณาการ ผสานองค์ความรู้ สู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อได้รับโจทย์ของพื้นที่แล้วได้มีการศึกษาวิเคราะห์ความโดดเด่นของพื้นที่ และได้รับทราบว่าที่นี่มีความน่าสนใจในวิถีของชุมชน มีภูมิปัญญาโดดเด่นด้านการผลิตกะปิ หรือที่เรียกว่าเคยขัดน้ำเป็นการนำกะปิ (เคย) มาอัดแน่นในขวดโหล ปิดทับด้วยใบไม้แล้วใช้ไม้ไผ่เหลาบางๆ ขัดปิดทับด้านบน หมักทิ้งไว้ประมาณ 3-6 เดือน จะมีน้ำขึ้นมาด้านบน เรียกน้ำเคย มีรสชาติคล้ายน้ำปลา แต่จะหอมและอร่อยกว่า สามารถนำไปปรุงอาหารได้ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของตำบลท่าเคย รวมถึงการทำประมงพื้นบ้าน สิ่งเหล่านี้ทางคณะทำงานได้นำมาเป็นแนวคิดเพื่อหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ชุมชน หลังพบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประชากรในท้องถิ่นประสบปัญหารายได้ตกต่ำ เนื่องจากไม่สามารถออกทะเลในช่วงการประกาศปิดเคอร์ฟิวส์ได้ มีจำนวนผู้ตกงานเพิ่มมากขึ้นและได้ย้ายกลับถิ่นฐานเดิมของตนเอง จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาทักษะความรู้จากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เสริม เพิ่มความมั่งคงให้กับสินค้าประเภทอาหารและขยายช่องทางการตลาด รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายบูรณาการทำงานในชุมชนร่วมกันให้เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่การส่งเสริมอาชีพโดยชุมชนเป็นฐาน ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนบนพื้นฐานของฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน และบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด เพื่อให้ชุมชนได้รับการส่งเสริมพัฒนาตรงเป้าหมายและเกิดความเข้มแข็ง โดยการดำเนินงานในโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ศักยภาพ และความต้องการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของชุมชน การพัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่การส่งเสริมอาชีพโดยชุมชนเป็นฐานและจัดทำหลักสูตรของชุมชน นอกจากนี้ได้มีกระบวนการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมอาชีพโดยชุมชนเป็นฐานแบบมีส่วนร่วม และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการประกอบด้วย การวิเคราะห์ทุนชุมชนเพื่อหาต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน การส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชน “วิถีชุมชนคนท่าเคย” และ “กะปิท่าเคย ภูมิปัญญาเคยขัดน้ำ” การคัดเกรดและวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กะปิ การพัฒนาทักษะด้านการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตและสุขลักษณะที่ดีในการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกุ้งและกะปิ เช่น น้ำพริกเผากุ้ง กุ้งสามรส กะปิสวรรค์ กะปิกลุ้งกลิ้ง ไส้กรอกกุ้ง และซาลาเปากุ้ง การส่งเสริมช่องทางการขายโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การจัดทำระบบสารสนเทศฐานข้อมูล การส่งเสริมทักษะชีวิตด้านการจัดการเศรษฐกิจชุมชนและการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนท่าเคย