กรมชลประทาน จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ควบคุมค่าความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมส่งน้ำช่วยเหลือการผลิตน้ำประปาในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออก หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หวังบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ ส่งผลให้ปัจจุบัน (26 มิ.ย.64) ที่สถานีสูบน้ำดิบสำเเล ของการประปานครหลวง (กปน.) มีค่าความเค็มวัดได้ 0.92 กรัม/ลิตร เกินค่ามาตรฐานสำหรับผลิตน้ำประปา (มาตรฐานที่สามารถนำไปผลิตน้ำประปาได้ต้องไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) ประกอบกับระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ต่ำจากสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการควบคุมคุณภาพน้ำ ทั้งยังจะต้องส่งน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อช่วยเหลือการอุปโภคบริโภค และการผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปน.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา “เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างเหมาะสม จึงประสานไปยัง กฟผ. ให้พิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ตามความเหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.64 เป็นไปจนถึงวันที่ 4 ก.ค.64 เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ ในการผลักดันน้ำเค็มและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมในการผลิตน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงการส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยาด้วย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างมาก”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว นายประพิศ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มและสถานการณ์ภัยแล้งยังใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ตามข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด หากหน่วยงานใดหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถขอร้องไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา