วันที่ 24 มิ.ย.64 ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ มีการจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “89 ปี การอภิวัฒน์สยาม​ พ.ศ.​2475” เนื่องในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีผู้ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษหลายท่าน ประกอบด้วย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์, รศ.ดร.โภคิณ พลกุล, ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช, รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดำเนินรายการโดย อาจารย์วิโรจน์ อาลี ศ.ดร.สุชาติ หนึ่งในองค์ปาฐกได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การอภิวัฒน์สยาม​ พ.ศ.​2475 ไม่สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมได้มากนัก​ ซึ่งแตกต่างกับการปฏิวัติ​ประชาธิปไตย​ของสหรัฐอเมริกา ​และการปฏิวัติสังคม​นิยมของจีน ที่ทั้งสองประเทศสามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างดี แต่ภายหลังสยามอภิวัฒน์ 89 ปีแล้ว สังคมไทยยากจนลงมาก ประชาชนประสบปัญหาหลายด้าน ปัจจุบัน​ยังตกอยู่ภายใต้การปกครอง​แบบอยุธยา​ แบบขุนศึกขุนนางศักดินาและนายทุนเป็นใหญ่​ คนเหล่านี้มีอำนาจและทรัพย์สินเงินทอง​ประชาชนเป็นข้าทาสบริวาร เมื่อปี 2475 ประชาชนไทยเคยทะลุออกจากกะลาแล้ว แต่ตอนนี้ถูกครอบเข้ามาอยู่ในกะลาใหม่อีกรอบ จรก่อเกิดคณะราษฎรยุคใหม่ ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้องอนาคตของตนเอง ศ.ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า การเสนอความเห็นต่างๆ​ของนักวิชาการ​ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย​ และประชาชน​ถูกจำกัดอยู่ภายใต้​กรอบสังคมแบบขุนศึกศักดินา​ จึงเป็นการเสนอทางเทคนิค​เท่านั้น ​เมื่อนำมาปฏิบัติ​ไม่ได้ จึงทำให้ผู้ปกครองยิ่งมีอำนาจมากขึ้น​ ทวงบุญคุณ​จากประชาชน ​แม้ในศตวรรษ​ที่​ 21​ประชาชนไทยยังถูกจำกัดให้เป็นข้าทาสบริวารต่อไป “เรื่องสังคมสวัสดิการและการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ​มีรายละเอียดทางวิชาการอยู่​แล้ว​ แต่สังคมขุน​ศึกศักดินา​มักใช้นำมากล่าว​อ้าง​เพื่อสร้างบุญคุณ​ ยิ่งเวลาผ่านไป​ ความเหลื่อมล้ำ​ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น​ เพราะผู้มีอำนาจไม่ได้มาจากประชาชน ​ไม่มีใจเพื่อประชาชน​ ผิดกับการสร้างความเป็นธรรมในจีน​ ที่ผู้นำมาจากประชาชน​หรือการสร้างความเป็นธรรมในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป​ ที่ผู้นำมาจากประชาชน​ ทั้งๆ​ ที่​ประเทศไทยมีชื่อโครงการเพื่อความเป็นธรรม​ เหมือนกับประเทศเหล่านี้​ แต่วิธีคิดแบบศักดินา​ ไม่ใช่วิธีคิดแบบประชาชน ​งบประมาณ​ทั้งหมด​จึงถูกจัดแบบขุนศึกขุนนาง​มีอำนาจ​ มิใช่ประชาชนมีอำนาจ” ศ.ดร.สุชาติ แนวทางแก้ไข​ คือ การลดอำนาจผู้ปกครอง​ เพิ่มอำนาจประชาชน ​โดยรัฐทำหน้าที่​เท่าที่จำเป็น นั่นคือการลดเก็บภาษี​ เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจใช้เงินที่ตนเองหามาได้ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยกเลิกกฎหมายที่บังคับขู่เข็ญประชาชน ​ความจริงรัฐบาลเป็นลูกจ้างประชาชน​ ประชาชนจึงมีหน้าที่เสียภาษีเท่านั้น​ ส่วนโครงการสวัสดิการ​ได้แก่​​การศึกษา การสาธารณสุข คนทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ​ คนยากจน​ ภัยพิบัติ​ โรคระบาด ให้รัฐบาลทำโครงการแบบประชาชนมีอำนาจ​เป็นผู้ใช้เงิน ไม่ใช่ให้องค์กรของรัฐ​มีอำนาจ​ เช่น​ โครงการ​ 30​ บาทรักษาทุกโรค โครงการ​คูปองการศึกษาให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถเลือกโรงเรียนได้ และที่สำคัญหน่วยงานของรัฐบาลกลาง​ให้มีเท่าที่จำเป็น​ ให้ยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์​รัฐบาล ยกเลิก​ กอ.รมน.​ เลิกการทำ​ IO​ หรือปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร เพื่อตรวจสอบประชาชน​ เพราะสิ่งเหล่านี้มีในประเทศเผด็จการ​เท่านั้น ให้ยกเลิกการบริหารส่วนภูมิภาค​ ให้ท้องถิ่น​มาจากการ​เลือกตั้งทุกระดับ​ ให้องค์ปกครองท้องถิ่น​ (อปท.)​ ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน​ โดยรัฐบาลกลางทำหน้าที่ในภาพใหญ่ระดับประเทศ​ดูแลปกป้องประชาชน​