ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ถ้าหากจะบอกว่า เศรษฐีหรือคนร่ำรวย มีโอกาสหนีภาษีมากกว่ามนุษย์เงินเดือน หรือลูกจ้างรายวัน นั่นดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสังคมในระบบทุนนิยม เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดยสื่อ ในสหรัฐฯชื่อ ProPublica ซึ่งได้รับข้อมูลที่รั่วไหลมาจาก IRS หรือ สำนักงานสรรพากรสหรัฐฯ ที่น่าตกใจคือ ภาษีที่ว่านี้คือ ภาษีเงินได้นะครับ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับความมั่งคั่งจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของท่านเหล่านั้น บางท่านไม่ได้จ่ายเลย อื้อฮือ...มันเป็นไปได้อย่างไร จากเอกสารที่รั่วไหลออกมาจาก IRS พบว่าตั้งแต่ปี 2011 ถึงปี 2018 มหาเศรษฐี 25 อันดับของสหรัฐฯมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น$400 พันล้าน แต่จ่ายภาษีเพียง $13 พันล้าน ให้กับภาษีรายได้ที่เรียกเก็บจากรัฐบาลกลาง ดูแล้วก็เหมือนเยอะนะ แต่ถ้าคิดเป็นร้อยละมันแค่ 3.4% เท่านั้นเอง ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนจะถูกหักภาษีเต็มตามอัตราทุกเดือน ซึ่งก็มีอัตราตั้งแต่ 10% -50% ของรายได้หรือเงินเดือนทีเดียว ตัวอย่างมหาเศรษฐีอย่าง วอเรน บัฟเฟท จ่ายภาษีเงินได้จริงๆ แค่ 0.1% ในช่วงดังกล่าว ในขณะที่ทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้น $24 พันล้าน เจฟ เบซอส คนที่รวยที่สุดในโลก ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้เลยตั้งแต่ปี 2007 และ ปี 2011 อีรอน มัสค์ คนรวยอันดับ 2 ในโลกไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้เลยในปี 2018 จอร์ช โซรอส พ่อมดทางการเงินไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้เลยติดต่อกัน 3 ปี ในช่วงดังกล่าว และอดีตนายกเทศมนตรี มหานครนิวยอร์ก ไมเคิล บรูมเบิร์ก ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้ 1 ปี อ้าวเขาทำกันได้อย่างไร ในเมื่อมันมีคำวลีที่ถือว่าทรงพลังของสหรัฐฯว่า “ไม่มีอะไรที่แน่นอน นอกจากความตายและภาษี” หรือมันเป็นแค่วลีลวงโลกของระบบทุนนิยมสามานย์ ในขณะเดียวกันท่านวุฒิสมาชิกอลิสซาเบท วอร์เรน ซึ่งผู้เขียนชื่นชอบพอๆกับ วุฒิสมาชิกเออร์นี แซนเดอร์ส ได้บ่นดังๆในที่ประชุมสื่อว่า “ระบบภาษีของเรา เอื้อต่อมหาเศรษฐี โดยเขาไม่จำเป็นต้องร่ำรวยจากรายได้ ต่างจากมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย” เธอจึงเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะท่านมหาเศรษฐีเหล่านั้นหากินบนทรัพยากรของชาติ และค่าใช้จ่ายจากภาษีของประชาชนคนธรรมดาทั้งหลาย มาดูว่าเขาทำกันอย่างไร หลักการก็ง่ายๆ คือว่าอย่าให้ปรากฏว่ามีรายได้ ซึ่งไม่ใช่การหนีภาษี แต่เป็นการหลบเลี่ยงจากช่องโหว่ที่สภาฯ เปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย จะโดยจงใจหรือมีวาระแฝงเร้นก็แล้วแต่ หลักที่ว่าสรุปสั้นๆคือ “ซื้อ ยืม และตาย” ทั้งนี้ดูประหนึ่งว่ามหาเศรษฐีเหล่านั้นอยู่ อีกโลกหนึ่งกันเลย เพราะคนธรรมดาเขาต้องจ่ายเงินซื้อ ปัจจัยพื้นฐาน เช่น บ้านที่อยู่อาศัยและอาหาร แต่ท่านมหาเศรษฐีเหล่านี้ท่านใช้ชีวิตอยู่บนเงินกู้ยืม ฟังดูก็แปลกๆและแปร่งๆนะ แต่ลองติดตามขั้นตอนของท่านดู อันดับแรก คือ ซื้อ กล่าวคือ ท่านมหาเศรษฐีจะซื้อสินทรัพย์ หรือตั้งบริษัท หรือรับมรดก ตราบใดที่ไม่มีการขาย เขาจะไม่เสียภาษีเงินได้ แม้จะเสียภาษีการซื้อบ้างก็น้อยมาก ส่วนมรดกมันก็มีวิธีเลี่ยงดังจะอธิบายต่อไป อันดับสอง คือ กู้ยืม โดยมหาเศรษฐีเหล่านี้จะทำการกู้ยืมจากธนาคาร ซึ่งแน่นอนก็มีโยงใยกับตน และด้วยเครดิตกับหลักทรัพย์จะเสียดอกเบี้ยต่ำมาก ตัวอย่างเช่น ไปกู้เงินจากธนาคารมา $10 ล้าน จะเสียดอกเบี้ยงเพียง 3% หรือถูกกว่านั้น ในขณะที่ถ้าเป็นเงินได้ $10 ล้าน ท่านมหาเศรษฐีจะต้องเสียภาษีถึง 37% ท่านจึงอาศัยเงินกู้เป็นเงินใช้จ่ายอยู่บนความหรูหรา ฟุ่มเฟือยอย่างมีความสุข ลำดับที่ 3 เมื่อถึงคราวตาย คนเหล่านี้ยังสร้างระบบที่ซับซ้อนของทรัส หรือกองทุนหรือไม่ก็มูลนิธิ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีทรัพย์สิน ดังนั้นทายาทจึงไม่ต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งแพงมากประมาณ 50% ไม่ว่าจะเป็นมรดกจากหุ้นหรือทรัพย์สินอื่นๆ ดังนั้นทายาทก็จะเป็นเศรษฐีใหม่ที่ปลอดภาษีและเริ่มวงจรใหม่ ลองมาดูข้อมูลของเจฟ เบซอส มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก เป็นตัวอย่าง เขาผู้นี้นอกจากจะไม่เสียภาษีเงินได้ในบางปีแล้ว ยังใช้สิทธิลดหย่อนค่าบุตรอีก $4000 ด้วยนะครับ จากข้อมูลเจฟ เบซอส พบว่าในระหว่างปี 2006 ถึง 2018 ทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้นเกือบ $130 พันล้าน ในช่วงนั้นเขาจ่ายบางสิ่งที่อาจเรียกว่าภาษี $1.4 พันล้าน ซึ่งดูเหมือนเยอะมาก แต่มันเป็นแค่ 1% เท่านั้นเอง ส่วนในช่วงอื่นๆเขายื่นเงินได้ที่ต่ำมาก จนบางทีไม่เสียภาษีเงินได้เลย ส่วนวอเร็น บัฟเฟท ซึ่งอาจเป็นตัวอย่างที่ดีมากอันหนึ่ง เพราะเขามักจะออกมาบ่นว่าระบบภาษีของสหรัฐฯมันไม่แฟร์ แต่บริษัท Berkshire Hathaway ในหลายๆวาระไม่จ่ายปันผล แต่ให้เป็นหุ้นตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น ดังนั้นวอเร็น บัฟเฟท จึงไม่มีรายได้ แต่มั่งคั่งขึ้น ตราบใดที่ไม่ขายหุ้น ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบรรดามหาเศรษฐีเหล่านี้ เขามีวิธีหลีกเลี่ยงภาษีอย่างไร ในขณะที่ร่ำรวยมากขึ้นทุกวินาที และทำให้เกิดช่องว่างของความมั่งคั่ง ระหว่างมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่ร้อยคนกับคนนับล้าน อีกประเด็นที่น่าสนใจมากๆ คือ เมื่อข่าวนี้รั่วออกไปในยุคนายไบเดน แทนที่รัฐบาลจะสอบสวนข่าวข้อเท็จจริง เพื่อหาทางอุดรอยรั่ว รัฐบาลไบเดนกลับสั่งให้สอบสวนว่า ข้อมูลมันรั่วออกไปได้อย่างไร นี่ก็ชัดเจนว่ารัฐบาลทำงานรับใช้ใครมิใช่หรือ เรื่องท่าทีของรัฐบาลแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับรัฐบาลส่วนใหญ่ในโลก ภายใต้ระบบทุนนิยม และการเลือกตั้งต้องมีการใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ก็ใช่ว่าในระบอบเผด็จการ การคอร์รัปชันเชิงนโยบายด้วยระบบภาษีที่เอื้อนายทุนจะไม่เกิดขึ้น ผู้เขียนมองว่ามันยิ่งเกิดง่าย เพราะจะไม่มีการขุดคุ้ยตรวจสอบจากประชาชน ที่สหรัฐฯยังโชคดีที่สื่อที่เอาเอกสารของสรรพากรมาเผยแพร่ได้รับการคุ้มครอง และไม่ต้องเปิดเผยแหล่งข่าวจึงทำให้มีข้อมูลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ สำหรับในประเทศกำลังพัฒนาเรื่องการเปิดโปงการคอร์รัปชั่น หรือการสมยอมหลีกเสี่ยงภาษีนั้นมันเป็นได้ยากมาก ถ้าไม่ถูกรัฐบาลจัดการจะถูกเก็บได้ ยิ่งบางท่านที่มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ใสสะอาด ตระกูลดังบางท่าน ซึ่งอาจมีชีวิตอยู่หรือวายชนม์ไปแล้วยิ่งแตะไม่ได้เลย เพราะในสังคมด้อยพัฒนา การสร้างภาพเป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยปกป้องให้ท่านทำอะไรก็ได้ แม้ไม่ทุจริต ก็ไม่สุจริต แต่ยังยืนอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผย ดร.มูฮัมมัด ยูนุส ประธานธนาคารคนจนของบังคลาเทศ กล่าวว่า “ความยากจนนั้นไม่ได้เกิดจากคนจน” คำถามคือแล้วมันเกิดจากใคร เกิดจากอะไร “ความพอเพียง” นั้นมีไว้สำหรับคนจนเท่านั้นหรือ