การจัดงานพระบรมศพและพระศพในอดีต นอกจากพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่เจ้านายที่ล่วงลับตามขนบสืบมาแล้ว ยังมีธรรมเนียมการแจกของพระราชทานเพื่อเป็นอนุสรณ์ เช่น เครื่องสังเค็ด พัดรองสังเค็ด เป็นต้น ใน "งานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" หลายหน่วยงาน ได้จัดทำสิ่งอนุสรณ์เป็นจำนวนมาก ทั้ง "สิ่งอนุสรณ์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ"และ "สิ่งอนุสรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในงานพระราชพิธีพระบรมศพ" โดยอาจสรุปพอสังเขปได้ ดังนี้ สิ่งอนุสรณ์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ 1.เครื่องสังเค็ดคำว่า "สังเค็ด" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่าเป็นคำนาม หมายถึง ทานวัตถุที่มีตู้พระธรรมเป็นต้น ที่เจ้าภาพจัดถวายแก่พระสงฆ์ หรือภิกษุผู้เทศน์หรือชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ เรียกว่า เครื่องสังเค็ด ใน หนังสือคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ให้ความหมายว่า"สังเค็ด มาจากคำว่า สังคีต แปลว่า การสวด ดังนั้นที่ซึ่งพระสงฆ์ขึ้นไปนั่งสวดได้ 4 รูป จึงเรียกว่า เตียงสังคีตอันเดียวกับเตียงสวด หรือร้านสวดในงานศพ เว้นแต่ทำให้ประณีตขึ้น มียอดดุจปราสาทก็มี ไม่มียอดก็มี ทั้งนี้เครื่องสังเค็ดอันหมายถึงสิ่งของที่ใช้นี้การทำบุญศพ มีที่มาจากแต่เดิมนิยมนำสังเค็ดอันเป็นเตียงสวดของพระสงฆ์นั้นมาใส่ของหามเข้ากระบวนแห่ศพ ต่อมาภายหลังของเหล่านี้ไม่ได้จัดใส่ในสังเค็ดแล้ว แต่ผู้คนยังเรียกของทำบุญในงานศพว่าเครื่องสังเค็ดอยู่" ส่วนเหตุที่เรียกคำว่า "สังคีต" ว่า "สังเค็ด" นั้น เสฐียรโกเศศ ได้อธิบายไว้ใน หนังสือ "สดุดีเด็กๆ และ สังเค็ด"ไว้อย่างน่าสนใจว่า "ที่คำสังคีตซึ่งแปลว่าสวด เพี้ยนเป็นว่าสังเค็ด (ที่ถูกควรเป็นสังเคต) ก็ไม่แปลก" เพราะเสียงอีและเอแทนกันได้ ... มีผู้บอกข้าพเจ้าว่า การทำบุญหน้าศพที่พระเทศน์จบแล้วก็มีพระสวดต่อ แต่เดิมพระสวดจบไปตอนหนึ่ง ก็มีพระต่างหากองค์หนึ่งเป็นผู้เทศน์อธิบายข้อความที่พระสวดนั้นเป็นระยะๆ ไป ทำนองเดียวกับสวดแจง เสียงที่พระสวดมีทำนองจังหวะหนักเบาและสั้นยาวไม่ผิดอะไรกับร้องเพลง เหตุนี้จึงได้เรียกว่าสวดที่มีทำนองว่าสังคีต ไม่ใช่ว่าพระร้องเพลงหรือฟังเพลงไม่ได้ทีเดียว ถ้าเป็นทำนองเพลงที่ยกจิตใจให้เกิดเป็นอารมณ์ใฝ่สูงก็ไม่เห็นจะขัดข้องแต่เรียกเสียว่าสวดให้ผิดกับคำว่าร้องเพลงก็แล้วกัน เพราะคำว่าร้องเพลงมีกลิ่นไปในความหมายหนักไปทางกามคุณจึงไม่ควรเอามาใช้ในที่นี้ เรามัวไปนึกถึงร้องเพลงฟังเพลงที่ฆราวาสเขาร้องกัน ก็เพลงเหล่านั้นส่วนมากเมื่อฟังแล้วมันทำให้ใจกำเริบฟุ้งซ่าน ผิดกับทำนองเพลงอย่างที่พระท่านสวดสังคีต จึงไม่บังควรแก่พระจะฟังหรือจะร้องเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้รู้ว่าเตียงที่พระท่านขึ้นไปนั่งสวดสังคีตคือเป็นเตียงสังคีต แต่เพี้ยนเสียงสระให้เป็นสังเค็ดเสีย และความหมายในคำได้ต่างกันออกไปด้วยประการฉะนี้" เครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพและพระศพ ประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ ตามแต่จะเห็นว่าสิ่งใดจำเป็นแก่พระสงฆ์ เช่น พัดรอง หรือพัดสังเค็ด ย่าม ธรรมาสน์ ตู้พระธรรม เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง ซึ่งในสมัยก่อนจะมีการตั้งแต่งเครื่องสังเค็ดภายในบริเวณพระเมรุมาศ หรือพระเมรุเสมือนเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนธรรมเนียมการถวายเครื่องสังเค็ดจากเดิมที่เน้นเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ไปเป็นการมุ่งประโยชน์แก่สาธารณะมากขึ้น โดยทรงกำหนดเครื่องสังเค็ดไว้ 3 ประเภท คือ 1) ถวายพระภิกษุเป็นส่วนบุคคล (พัด ย่ามผ้ากราบ และพระบรมรูปเป็นที่ระลึก) 2) ถวายวัด (ธรรมาสน์)3) ให้โรงเรียน (เครื่องใช้ครบทุกอย่าง) ปัจจุบันเครื่องสังเค็ดที่เตรียมในการพระบรมศพและพระศพ ยังคงใช้ธรรมเนียมดังกล่าวอยู่ แต่มีการถวายหนังสืออันเป็นแหล่งปัญญาเพิ่มเข้ามา ดังในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 โดยได้สร้างตู้สังเค็ดบรรจุพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยเหตุนี้อาจสรุปได้ว่า "เครื่องสังเค็ด" หมายถึงทานวัตถุมีตู้พระธรรม โต๊ะหมู่ เป็นต้น ที่เจ้าภาพจัดถวายแก่สงฆ์หรือภิกษุผู้เทศน์หรือชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ สำหรับใน "งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" กรมศิลปากร โดย สำนักช่างสิบหมู่ได้รับภารกิจในการออกแบบเครื่องสังเค็ด ส่วนการจัดสร้างสำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ทางกรมศิลปากรช่วยควบคุมดูแลให้เป็นไปตามรูปแบบ ดังรายการต่อไปนี้ 1.พัดรองสำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุ 2.พัดรองสำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ 3. พัดรองสำหรับถวายพระจีนนิกาย และอนัมนิกาย 4. ตู้สังเค็ดหรือตู้ใส่หนังสือประดับด้วยภาพพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก 5. ธรรมาสน์ปาติโมกข์ 6. หีบพระปาติโมกข์พร้อมต่าง 2.หนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2423 ปรากฏการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มแรกขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ "หนังสือสวดมนต์" แจกในงานพระเมรุ พระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณภรณ์เพชรรัตน์ เป็นบทสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตรต่างๆ ซึ่งเดิมจารเป็นอักษรขอมลงบนในใบลาน นำมาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยจำนวน 10,000 ฉบับ จัดพิมพ์ ณ โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระราชทานแด่พระสงฆ์ไทยทุกวัด หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มแรกของไทย แล้วยังเป็นหนังสือสวดมนต์ภาษาไทยเล่มแรกที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตามมีบางท่านสันนิษฐานว่า หนังสืออนุสรณ์งานศพที่เก่าที่สุดนั้น อาจเริ่มแจกในงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อปีพ.ศ.2411 เรื่อง "พระอะไภยมะณี" พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ครูสมิทจำนวน 120 ชุด แต่ละชุดมี 20 เล่มจบ ใน "งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร" คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ ดังนี้ - หนังสือที่ระลึก ประกอบด้วย 1. หนังสือ "พระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์" 2. หนังสือ "พระเมรุมาศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร" 3.หนังสือ "เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" 4.หนังสือ "นวมินทราศิรวาทราชสดุดีร้อยกรองเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" - หนังสือจดหมายเหตุ ประกอบด้วย 1. หนังสือจดหมายเหตุ งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (จดหมายเหตุฉบับหลัก)2.หนังสือจดหมายเหตุ งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ฉบับประชาชน 3.หนังสือจดหมายเหตุ งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ฉบับสื่อมวลชน 4.หนังสือ "พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย" ในโครงการกานท์กวีคีตการ ปวงประชาน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 5.หนังสือและซีดีบทเพลงแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 6.หนังสือจดหมายเหตุฉบับวีดิทัศน์ "ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์" อนึ่ง ในการพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์หนังสือในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวาระต่างๆพระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมพระราชพิธี เพื่อเป็นอนุสรณ์วิทยาทาน ดังนี้ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) 1. หนังสือพระพุทธนวราชบพิตร 2.หนังสือพระบรมราชาธิบาย เรื่องสามัคคี พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3.หนังสือพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2534 4.หนังสือประมวลภาพพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร พ.ศ.2511 5.หนังสืออุปกรณ์ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 6.หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พิมพ์ลงในวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา เล่ม 2 (ภาษาไทย-อังกฤษ) พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) 1.หนังสือ "การประดิษฐานพระบรมโกศ" 2.หนังสือ"พระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยทรงครองราชย์ครบหมื่นวัน" (ทศพิธราชธรรม ภาษาไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส) 3.ภาพพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) 1. หนังสือเมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์2. หนังสือพระมหาชนก (ฉบับการ์ตูน ไทย-อังกฤษ) 3.หนังสือเรื่องทองแดง (ฉบับภาพถ่าย) 4. หนังสือเรื่องทองแดง (ฉบับการ์ตูน) 5. หนังสือมูลนิธิที่ทรงก่อตั้ง สมาคมมูลนิธิ องค์กร และสโมสร ในพระบรมราชูปถัมภ์ 6. หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตร ที่พิมพ์ในวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา เล่ม 1 พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) 1.หนังสือพระพุทธนวราชบพิตร 2.หนังสือพระบรมราชาธิบายเรื่องสามัคคี พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3.หนังสือพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม2534 4.หนังสือประมวลภาพพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พ.ศ.2511 5.หนังสืออุปกรณ์ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 6. หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่พิมพ์ลงในวารสารมูลนิธิชัยพัฒนาเล่ม 2 (ภาษาไทย-อังกฤษ) 4.เข็มกลัดที่ระลึก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำ "เข็มกลัดที่ระลึก พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" ราคาเข็มละ 300 บาท โดยลักษณะเข็มเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม ตอนปลายสอบยาวตรง ด้านหน้าอัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธยภ.ป.ร.ลงยาสีฟ้า สีเหลือง สีขาวนวล มีมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีอยู่เบื้องบน ประดิษฐานกึ่งกลาง มีอักษรคำว่า "พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ2560" จารึกเบื้องล่างโดยรอบ และด้านหลังเข็มมีตราสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่กึ่งกลาง สีของเข็ม เป็นโทนสีเหลือง-ทอง สีวันพระบรมราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเข็มดังกล่าวหลังงานถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ สามารถใช้ได้ตลอดไป โดยรายได้นำขึ้นถวายโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด 3. ภาพที่ระลึก - ข้าวเปลือก 'พอเพียง' ภายหลังที่มีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เบื้องหน้าพระบรมโกศณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวัง ได้จัดทำภาพที่ระลึก โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพพิมพ์ 4 สี ขนาด 5 คูณ 7 นิ้ว เป็นที่ระลึก ซึ่งมีทั้งหมด 3 แบบ แบบที่ 1 - ภาพบรมโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรขนาด 5 คูณ 7 แบบที่ 2- พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พิมพ์4 สี ขนาด 5 คูณ 7 ซึ่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สด 3 สี ได้แก่ ดอกไม้สีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำพระบรมราชวงศ์จักรี อีกทั้งเป็นสีประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยดอกไม้สีขาว ซึ่งเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นสีแห่งพระเมตตาขององค์ภูมิพลที่ปกเกล้าชาวไทย และดอกไม้สีเขียวซึ่งเป็นสีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะทุกพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินจะเกิดความอุดมสมบูรณ์มีฝนมีป่า พืชพันธุ์ธัญญาหาร ราษฎรมีเก็บ มีกิน มีใช้ มีออม ดำรงชีพอย่างพอเพียงประดับถวายอาลัยในพระราชพิธีพระบรมศพ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้มีดอกไม้ประดิษฐ์เป็นรูปกระต่าย สัตว์ประจำปีนักษัตรประจำปีพระราชสมภพประดับอยู่ด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย แบบที่ 3 - ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพิมพ์ 4 สี ขนาด 5 คูณ 7 ซึ่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ โอกาสนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำของที่ระลึกมอบให้แก่ประชาชนที่เข้าถวายสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศ โดยจัดเตรียมเป็นข้าวเปลือกบรรจุถุง ติดฉลากพร้อมข้อความว่า "พอเพียง" ซึ่งได้อัญเชิญลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มามอบให้แก่ประชาชนที่เข้าถวายสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศเป็นที่ระลึกอีกด้วย 5.แผ่นพับที่ระลึกงานพระราชพิธีพระบรมศพฯ กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิมพ์แผ่นพับที่ระลึก เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้ดำเนินการจัดทำต้นฉบับแผ่นพับที่ระลึกฯ เรียบร้อยแล้วจำนวน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย - แบบที่ 1 เนื้อหาหลัก 8 หัวข้อ ได้แก่ พระราชประวัติจอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ พระปรีชาเกริกไกรไปทั่วหล้า พระราชกรณียกิจเพื่อปวงประชา พระราชดำริพัฒนาเทิดถาวรพระเกียรติยศปรากฏทั่วสากล ดิเรกดลถวายพระเพลิงเถกิงนุสรณ์ พระเมรุมาศสูงส่งอลงกรณ์ และเจิดกำจรกำหนดการพระราชพิธี จัดพิมพ์จำนวน 9,600,00 แผ่น แจกจ่ายผู้เข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ - แบบที่ 2 ย่อเนื้อหาจาก 8 หัวข้อในแบบที่ 1 โดยจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์จำนวน 100,000 แผ่น เพื่อแจกจ่ายแก่คณะทูตานุทูตและชาวต่างชาติ - แบบที่ 3 เนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ ทศพิธราชธรรม พระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ราชรถ พระยานมาศ และซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ แจกจ่ายในงานนิทรรศการ ณ บริเวณท้องสนามหลวง ภายหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2560 ทั้งนี้ แผ่นพับที่ระลึกทั้ง 3 รูปแบบ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล AR - Augmented Reality หรือเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน มาร่วมนำเสนอเนื้อหา โดยขยายรายละเอียดของแผ่นพับให้ผู้ชมเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วผ่านแอพพลิเคชั่นบน Smart Phone หรือ Tablet ประเภทต่างๆ รวมทั้งออกแบบให้เหมาะสมสำหรับการนำไปใส่กรอบเพื่อบูชาโดยใช้วิธีนำเสนอ 2 รูปแบบ เพื่อให้สะดวกในการเข้าถึงดังนี้ 1) ใช้เทคโนโลยี Zappar โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นชื่อ Zappar เปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นเพื่อส่องไปที่สัญลักษณ์ Zappar ที่ปรากฏที่มุมล่างขวาของแผ่นพับที่ระลึกจะปรากฏตัวเลือกให้เข้าชมเนื้อหา 4 ตัวเลือก ได้แก่ วีดิทัศน์สารคดี "ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (eBook) ประมวลภาพเหตุการณ์งานพระบรมศพฯ เว็บไซต์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และแผ่นพับที่ระลึกฉบับดิจิทัลทั้ง 3 รูปแบบ 2) ใช้เทคโนโลยี AR โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นชื่อ ARZIO เปิดใช้งานแอพพลิเคชั่น เพื่อส่องไปที่แผ่นพับที่ระลึกตามส่วนต่างๆ จะปรากฏปุ่มให้กดชมอัลบั้มภาพพร้อมทั้งเสียงที่เกี่ยวข้อง หรือภาพพระเมรุมาศ 3 มิติเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ในการรับชม และการแสดงข้อมูล 6. เหรียญที่ระลึก การผลิตเหรียญกษาปณ์ประเทศไทยครั้งแรกมีขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2399 เริ่มจากการผลิตด้วยมือตามกรรมวิธี Hand Hammering Method ที่ใช้ในประเทศอังกฤษสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ส่วนเหรียญที่มีการแจกในงานพระศพนั้น เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 เป็นครั้งแรก ในงานพระเมรุพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี พระธิดาในพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5ทรงใช้เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ร.ศ. 109 พระราชทานเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดเครื่องโต๊ะที่เริ่มจัดในครั้งนี้เป็นคราวแรกเช่นกัน แต่ "เหรียญที่ระลึกที่ผลิตเฉพาะงานพระเมรุมาศ" เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2434 คือเหรียญที่ระลึกงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบัณฑวรรณวโรภาส พระธิดาลำดับที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ บุนนาค) เหรียญนี้มีขนาดเพียง 20 มิลลิเมตร ใช้อักษรย่อ บ.ว. ตามพระนามของเจ้านายพระองค์ที่ล่วงลับ และทรงใช้พระราชทานเป็นรางวัลในการประกวดเครื่องโต๊ะด้วยเช่นกัน สำหรับ "เหรียญที่ระลึกในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำเหรียญที่ระลึกในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งจัดทำเป็นเหรียญที่ระลึก 4 ประเภทได้แก่ 1. เหรียญที่ระลึกทองคำ ราคาเหรียญละ 50,000 บาท 2. เหรียญที่ระลึกเงิน ราคาเหรียญละ 2,000 บาท 3. เหรียญที่ระลึกทองแดงรมดำพ่นทราย ราคาเหรียญละ 3,000 บาท 4. เหรียญที่ระลึกคิวโปรนิกเกิล ราคาเหรียญละ 100 บาท - ด้านหน้า กลางเหรียญเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่าง มีข้อความ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" - ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปพระเมรุมาศ และเบื้องบนรูปพระเมรุมาศมีอักษรพระปรมาภิไธย ภปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนภายในวงขอบเหรียญ เบื้องล่างมีข้อความว่า "พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560" ทั้งนี้ภายหลัง กรมธนารักษ์ ได้ผลิตเหรียญที่ระลึกฯเพิ่มในครั้งนี้ มีจำนวนตามประเภทเหรียญ ดังนี้ เหรียญทอง ผลิตเพิ่มอีกจำนวนไม่เกิน 5 หมื่นเหรียญ จากเดิมที่ผลิต จำนวน 99,999 เหรียญ ราคาเหรียญละ 50,000 บาท, เหรียญเงิน ผลิตเพิ่มอีกจำนวนไม่เกิน 4 แสนเหรียญจากเดิมที่ผลิต 399,999 เหรียญ ราคาเหรียญละ2,000 บาท และ เหรียญทองแดงรมดำ ผลิตเพิ่มอีกจำนวนไม่เกิน 4 หมื่นเหรียญ จากเดิมที่ผลิต 39,999 เหรียญ ราคาเหรียญละ 3,000 บาท ส่วนเหรียญที่ระลึกคิวโปรนิกเกิล ราคาเหรียญละ 100 บาท ไม่มีการผลิตเพิ่ม โดยรายได้จากการจำหน่ายเหรียญที่ระลึกดังกล่าว หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย 7. ธนบัตรที่ระลึก ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้พิมพ์ธนบัตรชุดใหม่ขึ้นคือ "ธนบัตรที่ระลึก ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" โดยจะใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป โดยจัดพิมพ์ทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 20 บาท 50 บาท 100 บาท500 บาท และ 1,000 บาท มีลักษณะด้านหน้าเช่นเดียวกับธนบัตร แบบ 16 ที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน ส่วนภาพด้านหลังธนบัตรที่ระลึกชุดพิเศษนี้ ได้อัญเชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวในธนบัตร เพื่อย้อนรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ดังนี้ 8. แสตมป์ที่ระลึก บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัดได้จัดทำ"ไปรษณียากรชุด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร"เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยแสตมป์ชุดดังกล่าวมีจำนวนรวม 3 แผ่น ประกอบด้วย - แผ่นที่ 1 เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ขณะทรงแย้มพระสรวล จำนวน 9 ภาพ ราคาดวงละ 9 บาท - แผ่นที่ 2 ภาพเครื่องประกอบสำคัญอันได้แก่ พระบรมโกศ พระยานมาศสามลำคาน และพระมหาพิชัยราชรถ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พื้นหลังเป็นภาพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ ราคาดวงละ 3 บาท - แผ่นที่ 3 เป็นภาพพระเมรุมาศประกอบภาพเหตุการณ์พสกนิกรร่วมกันจุดเทียนแสดงความอาลัยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2559 จำหน่ายราคาชุดละ 99 บาท นอกจากนี้ยังมีซองวันแรกจำหน่ายราคาชุดละ 142 บาท สิ่งอนุสรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพฯ 1. สิ่งพิมพ์ที่ระลึก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ในห้วงเวลาแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน ภายหลังจากแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังได้ประกาศอย่างเป็นทางการ หัวใจไทยทุกดวงแทบแตกสลายความทุกข์ใดๆที่เคยผ่านมามิอาจเทียบได้ หลายคนรู้สึกสับสนคล้ายตกอยู่ในภวังค์..ไม่รู้เดือน..ไม่รู้ตะวัน ทว่าสิ่งที่สะกิดให้ทุกคนหลุดจากฝันร้ายนั้นกลับเป็น "ความจริง" ที่ยิ่งสร้างความปวดร้าว ราวกับคมมีดที่กรีดลึกลงกลางดวงใจอีกครั้ง เมื่อภาพของพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปรากฏพร้อมข้อความ "สวรรคต""สวรรคาลัย" บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2559 - หนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ตลอดช่วงเวลาฟ้าหม่นด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้และเพื่อร่วมแสดงความอาลัย สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ได้บรรจงเรียงร้อยถ้อยคำ ถ่ายทอดเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงเปี่ยม ไปด้วยทศพิธราชธรรม โดยอัญเชิญพระราชประวัติ พระอัจฉริยภาพ พระราชกรณียกิจ รวมทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของบุคคลต่างๆ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาล "นิตยสาร" และ "พ็อกเกตบุ๊ก" (ตุลาคม 2559 - กันยายน 2560) หมายเหตุ ส่วนหนึ่งของหนังสือที่ระลึก เมื่อปฏิทินเปลี่ยนศักราชย่างเข้าสู่เดือนตุลาคม พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ได้เวียนมาถึงวาระเป็นอีกครั้งที่สื่อสิ่งพิมพ์ทุกสำนักต่างรวมใจร่วมระดมสมอง และสรรพกำลังในหน่วยงานของตน บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและงานศิลปกรรมพระเมรุมาศซึ่งจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติและยิ่งใหญ่ที่สุดในรัชสมัยเพื่อน้อมถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย "นิตยสาร" และ "พ็อกเกตบุ๊กส์" (ตั้งแต่ ตุลาคม 2560) * หมายเหตุ ส่วนหนึ่งของหนังสือที่ระลึก 2. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้นแต่ยังมีการบันทึกข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ ดังเช่น ข้อมูลงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งที่ได้มีการรวบรวมข้อมูล สาระความรู้ ภาพความทรงจำในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย อาทิ 1) เว็บไซต์คลังความรู้ พระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช http://kingrama9.net (ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) http://www.prd.go.th (กรมประชาสัมพันธ์) https://www.m-culture.go.th/th/main.php?filename=index (กระทรวงวัฒนธรรม) http://www.finearts.go.th (กรมศิลปากร) 2) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือรูปแบบ E-Book สามารถดาวน์โหลดในรูปแบบ PDF พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ๙๙ พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์ คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย เสด็จสู่แดนสรวง 'The Visionary' ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา สมุดภาพ 'เชื่อมจุด ร้อยใจ' หัวใจของแผ่นดิน ธนบัตรรัชกาลที่ 9 3) นิทรรศการเสมือนจริง นำเสนอนิทรรศการเสมือนจริงผ่านโลกออนไลน์ เย็นศิระเพราะพระบริบาล (เย็นศิระเพราะพระบริบาล.com/main) 89 ปีของพ่อ (node.king9moment.com/89years) The Story of Father (www.thestoryoffather.com/exhibition) หมายเหตุ - ส่วนหนึ่งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 3. กระปุกออมสิน 'ออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ' สิ่งอนุสรณ์หนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจกันมากคือ"กระปุกออมสินออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ" ซึ่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้จัดทำขึ้น ภายใต้ "โครงการออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ" ความพิเศษของคอลเลกชั่นกระปุกออมสิน ออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ อยู่ที่เป็นของที่ระลึกแห่งความทรงจำ ซึ่งได้จำลองอุปกรณ์และของทรงงาน3แบบประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพวิทยุสื่อสาร และพระราชพาหนะทรงงาน เพื่อให้ผู้สะสมได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 4. ของที่ระลึกอื่นๆ ยังมีของที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่ภาคเอกชนและประชาชนได้ผลิตขึ้นในรูปแบบต่างๆอีกมากมายอาทิ เข็มกลัด กระปุกออมสิน ผ้าพันคอ ที่คั่นหนังสือและริสต์แบนด์ โดยส่วนใหญ่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะได้นำไปบริจาคโครงการการกุศลต่อไป ที่สุดของสิ่งอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชพิธีพระบรมศพ ใช่จะมีแต่เพียงวัตถุสิ่งของเท่านั้น...หากแต่"ประโยชน์สุข" ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร พระราชทานให้แก่พสกนิกรไทยและแผ่นดินไทยตลอดรัชสมัย ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้ทรงประกาศไว้ ...คือ "อนุสรณ์"อันล้ำค่าเหนือสิ่งอื่นใด ข้อมูลอ้างอิง กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2560). คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร.กรุงเทพฯ: สุวรรณภูมิเฮริเทจ. คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี. (2557). จดหมายเหตุงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี. กรุงเทพฯ : หอสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร.(2560).คู่มือสื่อมวลชนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่25-29 ตุลาคม พุทธศักราช 2560.ม.ป.ท. : ม.ป.พ. . นนทพร อยู่มั่งมี. (2551). ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ : มติชน. เสฐียร โกเศศ.(2505).สดุดีเด็กๆ และสังเค็ด ของเสฐียร โกเศศ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางสัณห์ สำรวจกิจ (อุ่นเรือน-สุนทรฉาย) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 13 กุมภาพันธ์ 2505. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ. . Download :: ตอนที่ ๙ น้อมศิระกรานนบพระภูมิบาลเอกบรมจักรี