บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าเบเกอรี่และอาหารรองท้องในแบรนด์ของ 7-11 รวมถึงขนมขบเคี้ยว รวมทั้งนำเข้าและจำหน่ายเนื้อสัตว์และผักแช่แข็ง โดยแบ่งธุรกิจเป็นประเภทหลักๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้ 1)กลุ่มเบเกอรี่และรองท้องแบรนด์ของ 7-11 ที่ NSL ผลิตให้2) กลุ่มขนมขบเคี้ยวแบรนด์ของ NSL พัฒนาเอง 3) ธุรกิจFood Service 4) OEM ขายเศษขนมปังและอื่นๆ โดยบริษัทมีสินค้าที่เป็นที่รู้จักและนิยมหลายอย่าง เช่น แซนวิชแฮมชีส แซนวิชหมูหยองน้ำพริกเผา เป็นต้น โดยผลิตในนามแบรนต์Ezy Taste, Ezy Sweet, 7 Fresh ซึ่งมีที่มาจากการที่ NSL ริเริ่มพัฒนาเมนูและสูตรและนำไปเสนอทาง CPALL เพื่อพัฒนาสูตรร่วมกันจนได้ข้อสรุปและจึงผลิตและจำหน่ายให้กับ CPALL แต่ผู้เดียว ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้หลักที่สำคัญของบริษัท โดยบริษัทมีข้อตกลงเรื่องคำรับรองการผลิตสินค้า (MOU) กับ CPALL ที่มีเนื้อหา คือ NSL ตกลงจะผลิตสินค้าตามที่ตกลงร่วมกันให้ CPALL แต่เพียงผู้เดียว โดยจะไม่ผลิตสินค้าที่มีหน้าตา รูปแบบ ลักษณะ สูตร กรรมวิธีกระบวนการผลิต ฯลฯ ให้บุคคลอื่น และทาง CPALL จะไม่ซื้อสินค้าจากผู้ขายรายอื่นที่มีหน้าตา รูปแบบลักษณะ สูตร กรรมวิธี กระบวนการผลิต ฯลฯ เหมือนกับที่ซื้อจาก NSL โดยมีระยะเวลาให้คำรับรองตั้งแต่ 19ธ.ค. 62 –18 ธ.ค. 69ซึ่งปกติจะมีการต่ออายุสัญญาก่อนประมาณ 3 ปี สำหรับโครงสร้างรายได้ของบริษัท บริษัทมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 94% ที่มาจากการผลิตสินค้าให้กับ 7-11 เป็นหลักอย่างไรก็ตาม บริษัทเริ่มมีรายได้ในส่วนของธุรกิจ Food Services เพิ่มมากขึ้น โดยธุรกิจ Food Services เป็นธุรกิจที่แปรรูปเนื้อสัตว์บรรจุใส่บรรจุภัณฑ์ พร้อมนำไปประกอบอาหาร ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า รวมถึงการนำเข้าและแปรรูปตัดแต่งและติดแบรนด์ของลูกค้า เช่น MyChoice ของ Tops โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 ที่ผ่านมา NSL ได้เริ่มผลิตและจำหน่ายซุปแช่แข็ง เช่น สตูว์เนื้อ ซอสโบโลเนส ซอสเนื้อต่างๆ ให้แก่ Tops เพื่อนำไปปรุงสุก/ปรุงร้อน ในโซนอาหารของ Tops ทำให้เห็นมีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี2564 ที่ 3,500 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 19.5% จากปีก่อน โดยการตั้งเป้ารายได้ที่ 3,500 ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้กว่า 19.5% จากปี 2563 ที่มีรายได้ที่ 2,927 ล้านบาท เป็นการเติบโตของรายได้ที่ดี สาเหตุหนึ่งที่เติบโตได้มากเป็นผลจากในปี 2563 บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19 ส่งผลให้รายได้ลดลงจาก 3,373.5 ล้านบาทในปี 2562 ลงมาเหลือที่ระดับดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดในปี 2564 นี้ บริษัทกลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์มาตั้งแต่ปีก่อน รวมถึงการออกโปรโมชั่นต่างๆของ 7-11 ส่งผลให้รายได้ไม่ได้รับผลกระทบ โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพต้นทุนยังหนุนกำไรให้เพิ่มขึ้นเร็ว ที่ผ่านมากำไรสุทธิของบริษัทในปี 2563 กลับไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากยอดขายที่ลดลง กำไรปี 2563 สามารถทรงตัวได้ที่ 151.41 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ 156.21 ล้านบาท สาเหตุหลักเป็นผลจากการปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนครั้งใหญ่ของบริษัท ก่อนที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดหาต้นทุนวัตถุดิบรายใหม่ๆทำให้มีการบริการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้โปรแกรม SAP-B1 ที่ทำให้บริษัทสามารถมองเห็นและจัดการต้นทุนได้ทั้งระบบ การต่อรองทางการเงินกับผู้ขายวัตถุดิบนส่วนของส่วนลดเงินสด ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 14.92% ในปี 2562 เป็น 16.24%ในปี 2563 ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 4.63% เพิ่มขึ้นเป็น 5.17% ตามลำดับ ขณะเดียวกันสัญญาณต้นทุนที่ลดได้…ยิ่งเร่งตัวขึ้นต่ออีกในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยอัตรากำไรขั้นต้นยังคงเพิ่มขึ้นจากทั้งปี 2563 ที่ 16.24% เพิ่มขึ้นเป็น 18.67% เป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.34%จากทั้งปี 2563 ที่ 5.17% เป็นสัญญาณที่หนุนกำไรสุทธิได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้แนวโน้มไตรมาส 2 ที่มีการระบาดของโควิดที่หนักเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่แนวโน้มรายได้ในไตรมาส 2 กลับยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เป็นผลจากการจัดโปรโมชั่นของทาง 7-11 ที่มีการจับคู่สินค้าและได้ราคาพิเศษ ส่งผลให้รายได้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบนักในขณะที่อัตรากำไรยังคงมีโอกาสเร่งตัวหรือทรงตัวในระดับสูงได้ต่อจากการบริหารต้นทุน โดยรวมผลกระทบจากโควิดเริ่มลดลงไปและอัตรากำไรยังคงทรงตัวสูงหนุนกำไร ส่วนการกลับมาเปิดเมืองในปลายปี…จะหนุนรายได้ให้เร่งตัวขึ้น ทำให้บริษัทมีโอกาสได้ประโยชน์จากทั้งอัตรากำไรที่ดีและรายได้ที่จะกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งปกติการเติบโตของรายได้บริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี (แม้ว่าปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิดเป็นครั้งแรกจะมีรายได้ลดลง) แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นบริษัทมีการเตรียมตัวที่ดีขึ้น รายได้เริ่มกลับมาเป็นปกติเช่นเดียวกับแนวโน้มไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ออกมา และคาดว่าหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรมากขึ้นในปลายปี สถานการณ์จะเริ่มกลับไปเป็นปกติได้เช่นเดียวกับต่างประเทศที่เริ่มเปิดประเทศในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ส่งผลให้บริษัทมีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้นและรายได้เพิ่มขึ้นเป็นระดับปกติ ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ 6,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการตั้งเป้ารายได้ที่เติบโตสูงจากรายได้ปีล่าสุดที่ประมาณ 3 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึง 18.9% CAGR และโดยปกติแล้ว การเพิ่มขึ้นของกำไรจะสูงกว่าระดับการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดยบริษัทคาดว่าจะมีรายได้จาก 7-11 ให้มีสัดส่วนรายได้ 70% ของรายได้รวมและรายได้นอกจาก 7-11 มีสัดส่วน 30% ซึ่งตอนนี้บริษัทกำลังศึกษาข้าวเหนียวทุเรียนส่งออกจีนและมัสมั่นที่ตั้งเป้าส่งออกยุโรป โดยที่จะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่จากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ไม่ต้องแช่แข็งและไม่ใส่สารกันบูด แต่สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน โดยที่รสชาติไม่ได้เปลี่ยน เป็นสัญญาณที่ดีต่อการเติบโตของบริษัทในระยะกลาง-ยาว ขณะที่ความเสี่ยง บริษัทมีความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่เป็นสัดส่วนที่สูงมากโดยในปี 2561-2563 บริษัทขายสินค้าให้ CPALL คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 99.3%, 96.6% และ 94.3% ของรายได้ทั้งหมดตามลำดับ ทำให้หากลูกค้ารายนี้ไม่สั่งซื้อบริษัทจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเบื้องต้นบริษัทได้ทำ MOU กับทาง CPALL ไว้ แต่โดยปกติแล้ว MOU ไม่ได้มีผลในเรื่องค่าเสียหาย ทั้งนี้คาดว่าราคาหุ้นมีโอกาสสะท้อนภาวะปกติของธุรกิจที่จะกลับไปเป็นปกติในปีหน้า โดยหากเราใช้สมมติฐานประเมินรายได้ในปี 2564 ที่ 3,500 ล้านบาท และปี2565 ที่ 3,800 ล้านบาท(ต่ำกว่าการประเมินเบื้องต้นของบริษัทที่ 4,000 ล้านบาท) ประเมินอัตรากำไรขั้นต้นปี 2564 ที่ 18.3% และปี 2565 ที่ 18.5% สัดส่วนค่าใช้จ่ายบริหารต่อยอดขายที่ 8.9% และ 8.7% ตามลำดับ ประเมินกำไรสุทธิปี 2564 และปี2565 ได้ที่ 242.3 ล้านบาท และ 284.2 ล้านบาทตามลำดับ โดยได้กำไรต่อหุ้นปี 2565 ที่ 0.947 ล้านบาท ประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ PE ปี 2565 ที่สะท้อนการเปิดเมืองเป็นปกติที่ 20 เท่า และเป็น PE ที่ใกล้เคียงกับธุรกิจอาหาร ส่งผลให้ราคาพื้นฐานของบริษัทอยู่ที่ 18.95 บาท มีส่วนต่างกว่า 36.33% เราเริ่มต้นคำแนะนำ หุ้น NSL เป็นหุ้น Explorer ด้วยคำแนะนำ“ซื้อ”