เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นายวิโรจน์ ชูช่วย ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนครปฐม กล่าวว่า ทางกรมพัฒนาที่ดินได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS โดยได้ดำเนินงานวางแผนเพื่อสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มใหม่ที่เริ่มต้นเข้าสู่การผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ให้ได้การรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มเกษตรกรรายย่อยและเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านระบบการรับประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการในการรับรองที่เป็นระบบสากลมีมาตรฐานทั่วโลกให้การยอมรับ ทำให้เกษตรกรเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลิตสินค้าที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ดังนั้นจึงได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS มาอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนเกษตรกรที่มีความพร้อมและเต็มใจที่จะเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน โดยการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน รวมถึงการให้ข้อมูลต่างๆกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ "ปี 2564 นี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนายกระดับให้เกษตรกรกลุ่มใหม่ที่ยังไม่ได้การรับรองมาตรฐาน เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS อย่างน้อย 5 กลุ่ม และภายในปี 2565 จะต้องให้ได้อย่างน้อยสัก 9 กลุ่ม โดยมีมิสเตอร์เกษตรอินทรีย์ สพด. ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำกับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ประชุมกลุ่มเกษตรกรและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ให้กับเกษตรกรในกลุ่ม" ด้านนางนารินทร์ ทองยี่สุ่น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเมืองนครปฐม ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเมืองนครปฐม ถือว่าเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกในพื้นที่ที่มีความตั้งใจอยากจะทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชแบบผสมผสานที่เรียกว่า ไม้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้ใต้ดิน ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก ผลไม้ และไม้เศรษฐกิจ เริ่มแรกถึงแม้ว่าในการทำเกษตรอินทรีย์อาจจะพบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคของแมลง เรื่องดินที่เสื่อมสภาพรวมไปถึงปัจจัยเรื่องของน้ำ อากาศ ทั้งนี้ ทางสถานีพัฒนาที่ดินนครปฐม ได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในทุกๆด้าน โดยส่งเสริมด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีความจำเป็นสำหรับการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น ปัจจัยต่างๆ ในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักสูตรต่างๆ และยังมีสารเร่งซุปเปอร์พด. อย่างปอเทือง ที่ช่วยในการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้รู้สึกชื่นใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือชุมชนจริงๆ มีการสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆที่ทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น และบริหารจัดการกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง จนทำให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชที่มีคุณภาพต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยให้สมาชิกได้เรียนรู้ในแปลงของตนเอง ว่ามีผลิตภัณฑ์เด่น ๆอะไรบ้าง ให้นำมาแปรรูปเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า และสามารถเก็บผลิตภัณฑ์ได้นานขึ้น นำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน