เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต่อมาเวลา 11.20 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลใน 4 ร่างในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้มีการบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับมีบทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ หลายเรื่องยังขาดความชัดเจนและยังมีปัญหาได้แก่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ ทั้งสิทธิในการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีอื่นๆ เสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองก็ยังขาดสาระสำคัญทำให้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นบังคับใช้มีบทบัญญัติที่จำกัด และการดำเนินการของพรรคการเมืองอย่างเป็นอุปสรรค และเป็นภาระของพรรคการเมืองเกินความจำเป็น นายสมพงษ์ กล่าวว่า โดยกฎหมายพรรคการเมืองจะต้องไม่มีบทบัญญัติใดที่ทำให้เกิดภาระแก่พรรคการเมืองมากจนเกินไป เพื่อเป็นการแก้กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันที่มีบทบัญญัติหลายอย่างทำให้เกิดปัญหาและปฏิบัติได้ยาก และการให้อำนาจ กกต.ในการควบคุมพรรคการเมืองมากจนเกินไปแทนที่จะเป็นเพียงการกำกับดูแลซึ่งในหลายเรื่องเป็นภาระแก่พรรคการเมืองเกินความจำเป็น ขณะที่การตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนเกินไปและการยุบพรรคการเมืองนั้นจะกระทำได้อย่างจำกัด และจะต้องปรากฏหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายต่อว่า สำหรับสิทธิในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขรัฐธรรมนูญควรบัญญัติให้ชัดเจนว่าบุคคลควรมีสิทธิ์ได้รับการบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและได้รับหลักประกันสุขภาพโดยทั่วหน้า เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขณะที่สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญในการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหารและการกระทำอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศและวิธีในการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้บัญญัติไว้เลย นอกจากนี้หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่จะเรียกเอกสารหรือเชิญบุคคลเข้ามาแถลงข้อเท็จจริงให้ความคิดเห็นก็ไม่สามารถที่จะขอบคุงหน่วยงานขององค์กรฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระได้ ทำให้หน้าที่ในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายบริหาร ทำให้ระบบการตรวจสอบเกิดถ่วงดุล ส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพ จึงสมควรปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการให้มีความเหมาะสม นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้วจะทำให้นานาชาติได้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น และให้ความสำคัญกับพันธกรณีระหว่างประเทศ “ดังนั้นเพื่อให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มีความชัดเจนและเกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมีกลไกในการต่อต้านการทำรัฐประหารไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีระบบการถ่วงดุลที่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้” นายสมพงษ์ กล่าว