กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 (ลุ่มน้ำชีตอนบน-ตอนกลาง) และสำนักงานชลประทานที่ 7 (ลุ่มน้ำชีตอนล่าง) ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากในลุ่มน้ำชี ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พร้อมวางแนวทางให้การช่วยเหลือประชาชน หากเกิดอุทกภัยในฤดูฝนนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงฤดูฝนปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณฝนตกใกล้เคียงกับปี 2551 และจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือน ส.ค.–ก.ย.64 จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย พร้อมทั้งวางแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำให้เพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้า รวมไปถึงการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำชี ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) กรณีหากเกิดน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง(ตอนล่าง) เขื่อนยโสธร จะช่วยเร่งระบายน้ำเพิ่มเป็น 1.5-2 เท่าของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า E.18 แม่น้ำชี อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด และสถานีวัดน้ำ E.92 แม่น้ำยัง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด รวมกัน ณ ช่วงเวลาน้ำหลาก โดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูล ด้วยการรักษาระดับ ที่ E.2A แม่น้ำชี อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร ไม่ให้มีผลกระทบกับประปาภูมิภาคสาขายโสธรและแพสูบด้วยไฟฟ้า ในกรณีที่แม่น้ำชีตอนล่าง E.98 แม่น้ำชี ท้ายเขื่อนธาตุน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี และแม่น้ำมูล M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำมาก เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนในแม่น้ำชีทั้ง 4 แห่ง (เขื่อนชนบท,เขื่อนมหาสารคาม,เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด) จะลดการระบายน้ำและหน่วงชะลอน้ำไว้ เพื่อช่วยแม่น้ำชีตอนล่างและแม่น้ำมูล ตามศักยภาพสูงสุดที่จะหน่วงชะลอน้ำไว้ได้ 2) กรณีน้ำน้อย เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาวจะระบายน้ำช่วยสนับสนุนพื้นที่น้ำชีตอนล่าง ซึ่งเขื่อนอุบลรัตน์ มีแผนการระบายน้ำ ฤดูฝน ปี 2564 จำนวน 1,812 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำวันละ 10.05 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายและเติมน้ำในแม่น้ำชีตอนกลาง-ตอนล่างอีกด้วย ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จัดทำแผนป้องกันเหตุในภาวะฉุกเฉิน และมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือและกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา