ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหาดทรายยาว ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล กลุ่มสตรีบ้านหาดทรายยาวกำลังแกะตัวกั้ง เพื่อทำกั้งหยองอย่างตั้งใจ ใน โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน หลักสตูรการแปรรูปอาหารทะเล โดย นางสาววิภานันท์ พุทธนุกูล ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองสตูล (กศน.อำเภอเมืองสตูล) นำวิทยากรมาสอนเพื่อตอบโจทย์บริบทของพื้นที่ สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าของฝากแก่นักท่องเที่ยวได้ในอนาคต และเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มสตรีแม่บ้านริมชายฝั่งทะเล ให้มีอาชีพโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว กลุ่มสตรีบ้านหาดทรายยาวต่างช่วยกันทำกั้งหยองตั้งแต่ขึ้นตอนแรก การต้ม แกะกั้งเอาเฉพาะเนื้อมาทำเป็นฝอยชิ้นเล็กๆ ผสมเครื่องปรุงตามสูตร ผัดด้วยไฟอ่อนจนได้กั้งหยองรสชาติกลมกล่อม เป็นความภูมิใจของผู้เข้าร่วมโครงการเพราะนอกจากจะได้เมนูอาหารทะเลเพิ่มมาแล้ว ยังได้ความรู้ทางโภชนาการจากวิทยากรอีกด้วย ด้านนางบุญจิง สระวาสี อายุ 53 ปี กลุ่มแม่บ้านที่เข้าโครงการ กล่าวว่า วันนี้มีเรียนรู้การแปรรูปอาหารทะเลจากกั้ง เมื่อได้ความรู้จะนำไปต่อยอดขายเป็นสินคาของฝาก นางสาวรอหนี สตันน็อต อายุ 34 ปี กลุ่มแม่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวด้วยว่า ในหมู่บ้านมีการทำอาชีพประมงออกเรือหาปลา ชาวประมงที่ได้กั้งมา เมื่อนำไปขายก็มีปริมาณเยอะเกิน อีกอย่างพื้นที่บ้านเรา มีกั้งเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา จึงจะจับกลุ่มกันมาเพื่อเรียนรู้ การแปรรูปอาหารทะเล วันนี้จึงมาเรียนรู้การทำกั้งหยอง การจับกลุ่มเข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ จะนำไปต่อยอดได้ ซึ่งในพื้นที่จะมีกลุ่ม OTOP อยู่แล้ว สำหรับบางคนที่ยังไม่มีรายได้ก็มาต่อยอดเพื่อขายออนไลน์ เพราะในช่วง covid แบบนี้นักท่องเที่ยวและลูกค้าที่ขายปกติอยู่จะมีน้อย จึงคิดกันว่าจะมาขายออนไลน์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์กั้งของเราเป็นที่รู้จัก ขณะที่ นางฤทัยรัตน์ จันทร์หอม วิทยาการอาหารและโภชนาการ กล่าวว่า วันนี้มาสอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากกั้งโดยเฉพาะเลย เพราะว่า ที่นี่มีอาหารทะเลที่ขึ้นชื่อหลายอย่าง แต่กั้งอาจจะดัดแปลงหรือแปรรูปมีไม่มาก ไม่เหมือนปลาไม่เหมือนกุ้ง เราจึงนำกั้งที่เหลือกิน เหลือขายแล้ว มาทำเมนูจากกั้งซึ่งในวันนี้จะทำเมนูที่ง่ายที่สุดคือกั้งหยอง เพื่อเสริมอาชีพ ให้มีรายได้ วันนี้เป็นเมนูง่ายๆ โดยเริ่มเรียนเป็นวันแรกเพื่อให้เขารู้จักผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นอย่างไรให้เขารู้ถึงการใช้ ให้ได้ผลิตผลมากที่สุด เพื่อที่จะเสียคุณประโยชน์หรือโภชนาการน้อยที่สุด ตามโครงการจะมีการเรียนรู้เป็นเวลา 14 วัน ได้มีการเรียนทฤษฎีเพื่อให้รู้ในการรู้จักกั้งแต่ละชนิดเป็นอย่างไร สามารถนำมาดัดแปลงเป็นอะไรได้บ้าง การที่จะให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างอายุของมันจะอยู่ได้นานแค่ไหน วันนี้ก็เริ่มจากกั้งหยอง อายุการใช้งานโดยไม่ใช้สารกันบูด อยู่ในอุณหภูมิด้านนอกปกติ อาจจะเก็บได้ประมาณ 1 สัปดาห์ หากเก็บในตู้เย็นสามารถเก็บได้เป็นเดือน เพราะเราต้องรักษาความสะอาด หลักๆที่ยืนหนึ่ง ที่อยากจะให้จุดยืนหนึ่งของที่นี่ก็คือ การทำน้ำพริก และ ข้าวเกรียบกั้ง ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะมีพวกปลา กุ้ง ก็เลยอยากให้ชุมชนนี้ กลุ่มแม่บ้านกลุ่มนี้ผลิตจากกั้งเป็นวัตถุดิบ ให้ได้มาตรฐานมากที่สุด นอกจากกั้งหยองแล้ว ทางโครงการจะให้ความรู้ การทำ กั้งแผ่น น้ำพริกกั้ง ข้าวเกรียบกั้ง และเมนูที่ทำจากกั้ง ให้กับกลุ่มสตรีแม่บ้านหาดทรายยาว ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล ได้นำไปต่อยอดสร้างอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการตอบโจทย์บริบทในพื้นที่ได้อย่างดี เพราะส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านแถบนี้จะทำอาชีพประมง ประกอบกับในพื้นที่มีความโดดเด่นเรื่องอาหารทะเล มีแลนด์มาร์คกั้งน้ำลึกขนาดใหญ่ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะวันหยุดยาวต่างๆ