นายนครินทร์ เทียนประทีป ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เผยว่า เกือบสองปีของการติดกับดักยุคโควิด ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นรูปธรรมของหลายองค์กรเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีของคลาวด์ส่วนตัว คลาวด์สาธารณะ หรือมัลติคลาวด์ในการจัดวางโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมกับคลาวด์-เนทีฟ (Cloud-Native) ในการพัฒนาปรับปรุงแอปพลิเคชันและบริการผ่านออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การไหลเวียนของข้อมูลระดับบิ๊กดาต้า และต้องอาศัยเครื่องมือบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น เมื่อพูดถึงอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลในปัจจุบัน เราคงไม่ได้มองแคบแค่กล่องเก็บข้อมูลที่มีตัวเลขความจุเทราไบต์สูง ๆ แต่ต้องเพิ่มแนวทางจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ "As a Service" ซึ่งคือ SaaS (Storage as a Service) ที่ช่วยองค์กรกำหนดแนวทางจัดระเบียบและบริการเข้าถึงข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ และสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลองค์กรให้สูงขึ้น ทำไม... ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบ SaaS จึงสำคัญ "มากขึ้น" ต่อองค์กรในยุคคลาวด์-เนทีฟ หนึ่ง... องค์กรส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายโซลูชันหรือข้อมูลบางส่วนขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดแอปพลิเคชันและบริการใหม่ ๆ บนออนไลน์จนเกิดข้อมูลไหลเวียนมากและเปลี่ยนแปลงเร็ว ยิ่งถ้าองค์กรมีการนำเอาเทคโนโลยีเอดจ์ คอมพิวติ้ง (Edge Computing) เข้ามาใช้เพื่อลดภาระประมวลผลจากส่วนกลาง ก็ยิ่งเกิดการกระจายของกลุ่มก้อนข้อมูลจาก BYOD ในทุกที่ทุกทิศทาง ซึ่งการจัดการในรูปแบบ SaaS โดยอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีซอฟต์แวร์เข้ามาร่วมจัดการสภาพแวดล้อมใช้งาน (Software Defined Storage) จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดสัดส่วนของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้อย่างอิสระ ลดปัญหาการจัดเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน และปรับเปลี่ยนบริการให้เป็นไปตามการใช้งานจริงได้อย่างรวดเร็วและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น สอง... ความสำคัญของการต้องมีระบบสำรองข้อมูลที่มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการขององค์กร โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับคลาวด์ได้ทุกประเภท และเข้ากันได้กับระบบของผู้ให้บริการคลาวด์แต่ละแห่ง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นกรณีการถ่ายโอนข้อมูลเมื่อต้องการปรับเปลี่ยนบริการ ย้ายระบบงาน หรือเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการคลาวด์ใหม่โดยไม่เกิดภาวะชะงักงัน ปัจจุบัน อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลรุ่นใหม่ได้รับการออกแบบมาให้บริหารจัดการการทำงานในลักษณะเดียวกับคลาวด์ ทั้งการจัดเก็บข้อมูลและสำรองข้อมูลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น เพิ่มเติมด้วยการนำระบบเอไอเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ในระยะเวลาที่จำกัด และสร้างระบบการให้บริการข้อมูลผ่านคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สาม... การเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยโดยตัวอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเองเมื่อถูกใช้งานบนคลาวด์ ซึ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ในยุคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การส่งมัลแวร์เข้าโจมตี แต่ยังหมายถึงการใช้งานข้อมูลอย่างผิดวิธีของบุคลากรจากในและนอกองค์กรซึ่งก่อให้เกิดรอยรั่วในระบบ ดังนั้น การส่งข้อมูลขึ้นสู่คลาวด์จำเป็นต้องมีการจัดการด้านนโยบายการควบคุม การจัดเก็บ การเข้าถึงและให้บริการข้อมูล ดังเช่น กำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล การลบข้อมูลเป็นการถาวรเพื่อป้องกันการกู้คืนกลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสมัยใหม่ที่มีระบบเอไอในวิเคราะห์และจัดการความปลอดภัยด้วยตัวเองได้โดยอัตโนมัติ จะช่วยลดภาระงานของบุคลากรด้านไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่รวดเร็วกว่าการจัดการโดยคน สี่... แอปพลิเคชันและบริการรูปแบบใหม่ผ่านคลาวด์-เนทีฟ ทำให้ต้องมีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่เก่งขึ้น "ไมโครเซอร์วิส คอนเทนเนอร์ และ DataOps" เป็นคำคุ้นหูสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ด้วยรูปแบบการพัฒนาแอปพลิเคชันหรือบริการแบบแยกส่วนคู่ขนานกันไปโดยใช้งานทรัพยากรน้อยลง แต่เกิดผลลัพธ์ในการส่งมอบ แก้ไข และพัฒนาปรับปรุงที่รวดเร็ว ดังนั้น อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจึงต้องเพิ่มคุณสมบัติที่พร้อมสำหรับนักพัฒนา อาทิ DataOps Manager ที่มาช่วยกำกับการจับคู่ความต้องการข้อมูลให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Intent-Based) โดยอัตโนมัติ หรือ Unified API เพื่อให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อข้อมูลการทำงานได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ดังนั้น ทิศทางเทคโนโลยีระบบจัดเก็บข้อมูลของบริษัทไอทีชั้นนำ จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างแนวคิดการจัดการแบบ As a Service มากขึ้น เช่น ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ซึ่งเปิดตัวเป็นผู้นำแพลตฟอร์มการบริการประมวลผลข้อมูลปลายทางจนถึงคลาวด์ (Edge-To-Cloud Platform as a Service) ภายใต้การกำกับด้วยซอฟต์แวร์การจัดการในแบบ "Unified Data Platform" โดยมีเทคโนโลยี Unified API มาช่วยบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างอัตโนมัติ เทคโนโลยี Unified DataOps สำหรับใช้กำกับการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมแบบคลาวด์-เนทีฟ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล รวมทั้งเพิ่มเครื่องมือเอไอในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแทนคนได้ในเวลาที่จำกัด พร้อมกับการพัฒนาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสองรุ่น ได้แก่ HPE Alletra 6000 และ HPE Alletra 9000 ซึ่งใช้แนวคิด Unified DataOps ในการบริหารจัดการข้อมูลแทนที่การจัดการสตอเรจ โดยนำ 3 สิ่ง คือ Data, Cloud automation และ AI Analytic ในการทำงานกับคลาวด์-เนทีฟ เพื่อให้เกิดการใช้งานในรูปแบบบริการตนเองได้โดยอัตโนมัติเพียงแค่ระบุความต้องการพื้นฐานเข้าไปในระบบ ซึ่งทำให้ Data Engineer หรือผู้จัดการข้อมูลสามารถจัดการข้อมูลเร็วขึ้น นักวิเคราะห์ Data Science ก็สามารถวิเคราะห้ข้อมูลเขิงลึกได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันทางธุรกิจได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต