ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลงน้ำ (เรือ ต.997 - ต.998) ณ อู่ต่อเรือ ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 14.20 น. พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลงน้ำ (เรือ ต.997 - ต.998) ณ อู่ต่อเรือ บริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ในฐานะภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ โอกาสนี้ พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง นายภัทรวิน จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมในพิธี กองทัพเรือ ได้อนุมัติให้จัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 - ต.998 จำนวน 2 ลำ เพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือ ตามนโยบายการพัฒนากองทัพ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ ซึ่งโครงการนี้กองทัพเรือได้ว่าจ้างให้บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โดยความเป็นมาของการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งนั้น เริ่มจากการที่กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 ถึงเรือ ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2530 อันเป็นการดำเนินโครงการของกองทัพเรือตามพระราชดำริของพระองค์ โดยกองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเรือชุด ต.991 - ต.993 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 ซึ่งโครงการนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี ต่อมาในปี พ.ศ.2552 กองทัพเรือจัดทำโครงการการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ชุดเรือ ต.994 - ต.996 ด้วยเป็นการสนองพระราชดำริ ในเรื่องการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ พระราชทานทั้งพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ซึ่งโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติฯ ชุดเรือ ต.994 นี้ได้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2554 และสามารถปฏิบัติงานตอบสนองต่อภารกิจได้เป็นอย่างดี สำหรับโครงการจ้างเรือสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997 และ ต.998 จำนวน 2 ลำ ในครั้งนี้ กองทัพเรือ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 – 2567 ที่ได้กำหนดความต้องการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวนทั้งสิ้น 16 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจต่างๆ และทดแทนเรือที่ครบกำหนดปลดระวางประจำการ ทั้งยังเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ และเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ คุณลักษณะที่สำคัญของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่นี้ มีความยาวตลอดลำ 41.45 เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ 7.2 เมตร ความลึกของเรือ 3.8 เมตร ระยะกินน้ำลึกตัวเรือ 2.0 เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 28 นอต กำลังพลประจำเรือ 33 นาย สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งบำรุง ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 1,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ที่ระวางขับเต็มที่ สำหรับพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบสากลให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี โดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ การนี้ สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีได้รับบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) ซึ่งมี คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500 กองประชาสัมพันธ์ +สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ