เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 21 มิ.ย.64 นายนันทปรีชา คำทอง ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมตัวแทนศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค องค์กรคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวม 13 องค์กร นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบฯตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 60 ตำบล และ ตัวแทนเกษตรวิถีธรรมชาติจังหวัดประจวบฯ ได้ร่วมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อชะลอเข้าร่วม CPTPP ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตัวแทนนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัด และได้เดินทาง มาที่ สาขาพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือ โดยมี นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.พรรคประชาธิปัตย์เขต 3 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับหนังสือดังกล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศจำนวน 30 จังหวัด รวมทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมใจนัดกันยื่นจดหมายต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าราชการจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมในแต่ละจังหวัด ในวันที่ 21 มิ.ย. 2564 เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้ชะลอส่งหนังสือเข้าร่วม CPTPPจากการที่รัฐบาลไทย มีนโยบายที่พยายามจะนำประเทศไทย เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership(CPTPP) โดยอ้างว่าจากข้อตกลงดังกล่าว ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากกว่าเสียผลประโยชน์นั้น
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เห็นว่า การเข้าร่วม CPTPP ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบมากกว่าผลบวกดังนี้ ผลกระทบด้านลบต่องบประมาณ หรือ ค่าใช้จ่ายของประเทศนั้น จากข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พบว่า จะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 420,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐ ในการจัดบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจากการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562 - 2590) ประเทศไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาจากการพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ผลกระทบของ CPTPP ต่อความมั่นคงด้านอาหารทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิตเกษตรกรรมจนถึงอาหารที่ผู้บริโภครับประทานดังนี้
1. เมล็ดพันธุ์แพงขึ้น เพราะเกิดการผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้า ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ในการนำไปปลูกต่อได้ ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์จะไม่หลากหลาย เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถพัฒนาสายพันธุ์เองได้
2. เกิดการผูกขาดอุตสาหกรรมอาหารไม่กี่เจ้า ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารแพงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่แพงมากขึ้น
3. อาหารที่ผู้บริโภคจะไม่มีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากจะมีหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากแคนนาดาทะลักเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่มีการควบคุมมากขึ้น
4. มาตรฐานความปลอดภัยสินค้า GMO ต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ เนื่องจากความตกลงนี้อ้างอิงการประเมินความเสี่ยงบนฐานทางวิทยาศาสตร์ตามกรอบของ WTO เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ใช้หลักการป้องกันเอาไว้ก่อน และไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบอาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสังคม
จากเหตุผลข้างต้น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศจำนวน 30 จังหวัด จึงเห็นด้วยกับแนวทางข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ขอให้ตระหนักในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ หากมีการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ผ่านการพิจารณาด้วยความรอบคอบและมองประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ ดังนั้นเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอให้มีการชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงค์เข้าร่วม CPTPP จนกว่าที่จะมีการศึกษาผลกระทบที่แน่ชัดแล้วว่าคนไทยจะไม่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ที่ทำให้ผลเสียประโยชน์ในอนาคต
ด้านนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เขต 3 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่ได้รับหนังสือกล่าวว่าได้ประสานไปที่หน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ซึ่งก็ยังมีระยะในการดำเนินการของคณะข้อเสนอสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีคณะกรรมาธิการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
ซึ่งมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ประเทศ เป็นประธาน เมื่อมีการประชุมลงความคิดเห็น อยากให้มีคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ( กนศ)และ ต้องเชิญหน่วยงานต่างๆของรัฐ มาแสดงความคิดเห็น แล้ว อยากให้เชิญองค์กรทั้งสามองค์กรเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วย