วันที่ 20 มิ.ย.64 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันที่ระลึกพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบรอบ 131 ปี ภายในถ้ำพระยานคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายไพโรจน์ นาครักษา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นายสุธน เวียงดาว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เข้าร่วมในพิธีตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดย ผอ.สบอ.3 ได้ประกอบพิธีถวายราชสักการะ กล่าวอาศิรวาทราชสดุดี กล่าวคำปฏิญาณตน วางดอกกุหลาบ วางพวงมาลาหน้าพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานบนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ นายพิชัย กล่าวว่าการจัดพิธีในครั้งนี้เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2433 ซึ่งปีนี้ครบ 131 ปี และจะมีการจัดพิธีต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งทางอุทยานเขาสามร้อยยอดได้ทำหนังสือถึงกรมศิลปากรขอความอนุเคราะห์ข้อมูลทางประวิติศาสตร์เกี่ยวกับถ้ำพระยานคร เพื่อให้ได้มีข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับไว้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดย นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้มีหนังสือตอบกลับมาทำให้ทราบว่าจากเดิมที่มีพระมหากษัตริย์ไทยได้เสด็จถ้ำพระนคร 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 และ รัชกาลที่ 9 แต่พบว่ามีพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จถ้ำพระนครถึง 5 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร เป็นอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อปีมะแม พ.ศ.2402 และครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2406, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานครด้วยกันทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ ปีพ.ศ.2406, 2429, 2432 และ พ.ศ.2433, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กล่าวกันว่าพระองค์ท่านเคยเสด็จที่ถ้ำพระนานครครั้งหนึ่งแต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ท่านได้เสด็จไปประทับที่พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2469 และได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร.ไว้ที่ผนังถ้ำทางทิศตะวันตกของพลับพลา ซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงวันนี้ และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้เสด็จที่ถ้ำนี้เป็นการส่วนพระองศ์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2524 สำหรับพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ตั้งอยู่ภายในถ้ำพระยานคร เป็นพลับพลาแบบจตุรมุข มีขนาดความกว้าง 2.55 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 2.55 เมตรสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ประทับในยามเสด็จประภาสถ้ำพระยานคร สร้างขึ้นจากฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ โดยทรงสร้างขึ้นในกรุงเทพฯแล้วส่งมาประกอบทีหลังโดยให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2433 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จารึกพระปรมาธิไธย ย่อ จ.ป.ร. ไว้ที่บริเวณผนังด้านเหนือของพลับพลา พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์นอกจากเป็นจุดเด่นของถ้ำพระยานครแล้ว ยังเป็นตราประจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน โดยจะมีความงดงามยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์ส่องลอดผ่านจากปล่องของถ้ำลงมากระทบกับพระที่นั่ง โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นโบราณสถานสำคัญเมื่อปี พ.ศ.2495 ซึ่งปัจจุบันถ้ำพระยานครแห่งนี้นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก.