"นายกฯ"โพสต์เฟซบุ๊ก ขอทุกฝ่ายร่วมมือทำงานอย่างเต็มที่ วิ่งไปให้ถึงเส้นชัย สู่เป้าหมาย"เปิดประเทศ" ใน120วัน "เพื่อไทย" เดินหน้าหาทางออก หลังสภาฯไม่บรรจุร่างแก้ รธน.มาตรา256 ลั่นจะทำทุกทางให้แก้ทั้งฉบับ ด้าน"นพดล" แจงเหตุยื่นแก้ รธน.มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง"ส.ส.ร."จัดทำรธน.ฉบับใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 60 และเสนอแก้รายมาตรา หวังตัดอำนาจ"ส.ว."ปลดล็อกที่มานายกฯ "ไพบูลย์"ยันแก้รธน.ทั้งฉบับทำยาก เหตุขัดคำวินิจฉัยศาลรธน. มั่นใจร่าง"พปชร."ผ่านฉลุย ขณะที่"องอาจ" ชี้ร่างแก้รธน. พรรคปชป.คำนึง 5 หลัก เชื่อจะเปลี่ยนแปลงทั้งทาง"ศก.-สังคม-การเมือง"ให้ประเทศเดินหน้าได้ "วันชัย"ซัดพรรคการเมืองดันแก้ รธน.13 ร่าง มุ่งเอาชนะกันทางการเมือง-การเลือกตั้ง หวังโกยเก้าอี้ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ระบุถึงการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ว่า "ผมขอกล่าวสิ่งที่ผมพูดไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมาอีกครั้ง เรื่องตั้งเป้าให้ประเทศไทยควรต้องพร้อมภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้โดยไม่มีเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยากจนเกินไป หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคนแล้ว ผมขอตอกย้ำอีกครั้ง ให้ทุกหน่วยงานและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้มีใครตั้งต้นด้วยข้อจำกัดที่คิดว่าเป้าหมายนี้จะทำไม่ได้ วันนี้ ประชาชนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทุกวัน ทุกสัปดาห์ มีค่าสำหรับเค้า ดังนั้นขอให้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อวิ่งไปให้ถึงเส้นชัย คือเป้าหมาย 120 วัน ให้ได้ เราต้องทำงานแบบมีเป้าหมายที่จริงจัง ชัดเจน แน่นอนครับว่า อาจจะมีปัจจัยภายนอกที่มารบกวนเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งมอบวัคซีน เรื่องสายพันธุ์ใหม่ๆ หรือเรื่องอื่นๆ แต่เราทุกคนต้องทำให้เต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายของเราให้ได้ครับ" ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า กรณีที่การประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ จะไม่มีการบรรจุระเบียบวาระในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย จะทำให้โอกาสในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่มีเลย ส่งผลให้เรื่องสำคัญที่เรากังวล คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตซ์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่มีทางทำได้ ทั้งนี้ สมัยประชุมหนึ่งเรายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 1 ครั้ง แต่เมื่อร่างของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นไปไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระในวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยจะประชุมกันเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่าจะขอหารือประธานรัฐสภาถึงแนวทางว่าเป็นอย่างไรต่อไป เพราะหากจำกันได้ก่อนโหวตวาระ 3 ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา ประธานรัฐสภาบอกว่าไม่สามารถตัดสินได้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร แม้แต่ฝ่ายกฎหมายหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพิจารณา ก็ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ก่อนโหวต เราจะทำทุกวิถีทางที่จะแก้รัฐธรรมนูญนี้ให้ได้ทั้งฉบับ ซึ่งแนวทางของพรรคเพื่อไทย ยืนอยู่ในระบอบประชาธิปไตย โดยเห็นชอบให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ด้าน นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขและไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 60 พร้อมกับเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่าหลายประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหา โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจหลักก็คือจะต้องทำให้มีกติกาเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยเพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน นายนพดล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีหลักคิดในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดังนี้ 1. พรรคขอย้ำจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 2.พรรคเพื่อไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยประชาชน เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่แก้ไขและไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 60 และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราบางประเด็น เช่น การเพิ่มสิทธิและเสรีภาพประชาชน ระบบเลือกตั้ง การตัดอำนาจ ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบผู้ที่เป็นนายกฯ ซึ่งประเด็นรายมาตรานี้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เคยร่วมกันเสนอให้แก้ไขมาแล้วเมื่อปี 2563 จึงไม่ได้เป็นการยื่นแก้ไขครั้งแรกหรือยื่นตามร่างที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นแก้ไขไปก่อนหน้า 3. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ควบคู่กันไปกับการแก้ไขรายมาตราข้างต้นเนื่องจากมองว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติและอาจต้องใช้เวลา กว่าจะผ่านการพิจารณาของสภา ไปจนเลือก ส.ส.ร.และส.ส.ร.มาดำเนินการยกร่างใหม่ก็อาจต้องใช้เวลา 6-8 เดือน กว่าจะนำกลับมาลงประชามติอีกครั้ง อาจใช้เวลานานเกิน 1-2 ปี ระหว่างนี้หากเกิดการยุบสภาและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเห็นว่าต้องแก้ไขกติกาให้เป็นประชาธิปไตยในบางประเด็นไปก่อนด้วย ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การตัดอำนาจ ส.ว.ไปก่อนแล้วให้ ส.ส.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในตัวนายกฯ และแก้ระบบเลือกตั้ง 4.ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ที่เคยใช้มาแล้วในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ซึ่งประเด็นนี้เมื่อปี 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้ร่วมลงนามเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว 5. การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน เพื่อให้มีกติกาที่ชัดเจน เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้นการพาดพิงว่า พรรคเพื่อไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์นั้น ขอให้คำนึงด้วยว่าการที่พรรคหนึ่งพรรคใดจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์หรือไม่นั้นจะต้องเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเท่าไร การเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนั้นเนื่องจากมองว่าสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้มากที่สุด โดย ส.ส.ร.40 เป็นผู้ออกแบบให้ ส.ส.มาจาก 2 ส่วนคือ 'ส.ส.เขต' เขตละคน เพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชน คล้ายระบบของอังกฤษ และ 'ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์' ซึ่งสองแบบจะแยกจากกันชัดเจน ไม่ได้มาจากคะแนนเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งจะมีความชัดเจนในการคำนวณคะแนน นายนพดล กล่าวว่า ถามว่าระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ตามรัฐธรรมนูญ 40 ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือกีดกันพรรคหนึ่งพรรคใดหรือไม่นั้น ตอบว่า ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส. ในทุกระบบอย่างเท่าเทียมกัน กติกานี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใด อีกทั้งระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนี้เคยใช้มานานแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นระบบนี้ รวมทั้งการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ก็เคยยื่นมาแล้วเมื่อปี 2563 จุดสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้คือ ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีฝ่ายบริหารที่สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่เห็นเช่นนี้ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเอง หลายพรรค เช่นพรรคประชาธิปัตย์ ก็เสนอแก้ไข ตนไม่เชื่อว่า พรรครัฐบาล มายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นระบบเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จึงขอสรุปว่าระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ เป็นสิ่งที่เคยใช้มาแล้วและประชาชนมีความคุ้นเคย ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดเพื่อตัวเอง แต่เป็นการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของกติกา ในการเข้าสู่อำนาจและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้ประชาชนในท้ายที่สุด ทางด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วันที่ 22-24 มิ.ย.นี้ ว่า เท่าที่ฟังข่าวเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องที่จะแก้ไขรายมาตรา 5 ประเด็น 13 มาตรา ของพรรคพลังประชารัฐ โดยเราเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และส.ว. และยึดหลักว่าจะต้องไม่เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้ง หรือเป็นประเด็นที่ทำให้จะต้องไปทำประชามติ เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากและต้องใช้เวลาด้วย ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นที่เราเสนอไม่ได้สร้างความขัดแย้งเลย ดังนั้นน่าจะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะผ่านหลักการในวาระที่ 1 เมื่อถามถึงกรณีที่ไม่มีการบรรจุระเบียบวาระในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯคงพิจารณาแล้วเห็นว่าขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสภาฯก็เคยมีความเห็นเสนอประธานรัฐสภาว่าเมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงมติวาระ 3 ว่าเป็นร่างที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เมื่อเห็นร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเหมือนเดิมหมด ดังนั้น จึงบรรจุระเบียบวาระการประชุมไม่ได้ ก่อนหน้านี้ตนเคยแสดงความเห็นไว้ว่าไม่ได้อยู่แล้ว การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับมันยาก มองว่าเป็นไปไม่ได้ ควรจะกลับมาที่รายมาตรา อีกทั้งรายมาตราก็ไม่ได้แก้ได้ครั้งเดียว ครั้งนี้เป็นการแก้ครั้งที่ 1 ถ้าผ่านร่างไปจนประกาศใช้เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งค่อยเสนอกันใหม่ ดูประเด็นที่ตรงกันและดำเนินการกันต่อไปได้ วันเดียวกัน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ตนได้นัดหมายประชุมส.ส.ของพรรคในวันจันทร์ที่ 21 มิ.ย. 2564 เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เราเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 6 ร่าง ประกอบด้วยเนื้อหาสาระสำคัญๆ 6 ประเด็นคือ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิการถือครองที่ดินดีกว่าเดิม 2. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 3. ให้การป้องกันการทุจริต สามารถทำได้จริง โดยเฉพาะการทุจริตขององค์กรอิสระอย่าง ปปช. ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้อาจมีการสมยอมกันได้ 4. ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ ถ้ายังใช้หลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แทบจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย 5. สร้างกลไกที่ทำให้การเลือกนายกฯ ยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น 6. แก้ไขระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิแสดงเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งอย่างแท้จริง นายองอาจ กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ เราคำนึงถึงหลักการสำคัญ 5 ประการคือ 1.ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น 2.ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน3.กระบวนการคัดกรองคนเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น 4.ทำให้การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น5.มีความเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชนมากขึ้น ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่า ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปได้ จะเป็นคุณูปการพื้นฐานอันสำคัญที่จะต่อยอดให