วันที่ 20 มิ.ย.64 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการเปิดประเทศใน 120 วัน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,069 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจมีดังนี้ ...
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 เห็นด้วยต่อการเปิดประเทศ ควบคู่ไปกับ การควบคุมโรคการแพร่ระบาดเชื้อ โควิด-19 หลังจากทุกคนได้วัคซีนเข็มแรก ขณะที่ร้อยละ 94.9 เชื่อว่าความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ยังส่งผลดีต่อการควบคุมโควิด-19 ร้อยละ 92.7 ระบุเกิดการแพร่ระบาดที่ไหนให้ปิดเฉพาะพื้นที่นั้น ไม่ใช่ปิดทั้งประเทศ ร้อยละ 88.7 ระบุ ความตื่นตัวกระตือรือร้นป้องกันการแพร่ระบาดของภาคประชาชนกันเองในแต่ละพื้นที่ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศได้ตามที่กำหนด ร้อยละ 88.2 ระบุความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขไทยส่งผลดีต่อการควบคุมโรค และร้อยละ 86.9 ระบุนโยบายดีและมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาลจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศได้
นอกจากนี้ประชาชนที่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.3 กังวลต่อการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แรงงานต่างชาติ เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย ร้อยละ 92.7 กังวลต่อ การมั่วสุม พนัน เสพยาเสพติด แหล่งแพร่ระบาดโควิด ร้อยละ 92.6 กังวลต่อ สถานบันเทิงที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 91.6 กังวลต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ รุนแรงกว่าเดิมเข้าไทยอีก ร้อยละ 89.5 กังวลว่า วัคซีนมีไม่เพียงพอ ไม่ถึงเป้าหมายฉีดครบ ใน 120 วัน ร้อยละ 83.9 กังวลต่อการรวมตัวกันและชุมนุมทางการเมือง และร้อยละ 74.0 กังวลต่อ ประชาชนไม่มีวินัย การ์ดตก ไม่เคร่งครัดควบคุมโรค นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.9 สับสนในการสื่อสารของหน่วยงานรัฐไม่ตรงกัน ในขณะที่ร้อยละ 7.1 ไม่สับสน
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.4 ต้องการให้รัฐมีมาตรการเข้มงวดจริงจังแก้โควิดและส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัย การ์ดไม่ตก ร้อยละ 94.9 ต้องการให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 เพียงพอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และร้อยละ 84.7 ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาเด็กไทยเสียโอกาสทางการศึกษามาช่วงเวลาร่วม 2 ปี
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการเปิดประเทศ 120 วัน ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคโควิด-19 หลังจากทุกคนได้วัคซีนเข็มแรก และมีความต้องการได้เข็มสองภายในต้นปี ยังมีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขและความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ไทยในการควบคุมโรค โดยเห็นว่าเกิดการแพร่ระบาดที่ไหนให้ปิดเฉพาะพื้นที่ ไม่เหมารวมปิดทั้งประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อทุกคนและระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นความกระตือรือร้นป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐและภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันในการเปิดประเทศได้ตามที่กำหนด
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวอีกว่า ประชาชนยังกังวลในหลายเรื่องที่จะทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามสิ่งที่คาดหวังไว้ ได้แก่ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลให้มีการทำผิดกฎหมาย ทั้งการมั่วสุมพนัน แหล่งบันเทิงและยาเสพติดซึ่งเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค นอกจากนี้ ประชาชนยังกังวลถึงโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมเข้าไทยและวัคซีนมีไม่เพียงพอและฉีดไม่ครบเป้าหมายใน 120 วัน ขณะเดียวกัน การรวมตัวชุมนุมทางการเมืองและประชาชนไม่มีวินัย การ์ดตก ไม่เคร่งครัดควบคุมโรค ทั้งนี้ ยังมีประเด็นน่าสนในที่อาจถูกมองข้ามคือ การแก้ปัญหาเด็กไทยเสียโอกาสทางการศึกษาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และความสับสนของประชาชนต่อการสื่อสารของหน่วยงานรัฐที่ไม่ตรงกันที่ผ่านมา
"เป้าหมายการเปิดประเทศ 120 วัน เป็นทั้งความหวัง ความเสี่ยงและความท้าทายร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไปต่อและเราทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ โดยยังคงมาตรการควบคุมโรค ที่ทุกฝ่ายต้องการ์ดไม่ตกและไม่ประมาท ความเสี่ยงร่วมกันจากข้อกังวลต่างๆ ถือเป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่และมีส่วนร่วมรับผิดชอบกันอย่างจริงจัง ทั้งนโยบายที่เข้มแข็งตรงเป้าของรัฐบาล ความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของภาคการเมือง ความจริงจังในหน้าที่ของทุกส่วนราชการ ภาคเอกชนที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน และที่สำคัญคือภาคประชาชนที่ต้องมีหน้าที่ มีส่วนร่วมและรับผิดชอบร่วมกัน โดยถือเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาตินับถอยหลัง 120 วัน ที่ทุกคนต้องมีหน้าที่และประเมินร่วมกันอย่างชัดเจน อีกทั้งการเยียวยาทางการศึกษา ถือเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนสำคัญยิ่ง ที่สังคมต้องการให้รัฐเข้าไปดูแลและให้ความสำคัญ" ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว