จ.บุรีรัมย์ พบการระบาดของโรค “ลัมปี สกิน” ในโค-กระบือ ทั้งจังหวัด 23 อำเภอ สัตว์ป่วยสะสม 22,456 ตัว ตาย 700 ตัว ปศุสัตว์รุกให้ความรู้เกษตรกร ป้องกันและกำจัดโรค ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค พร้อมให้การช่วยเหลือเยียวยา เพื่อชดเชย เยียวยากรณีสัตว์ตายด้วยโรคระบาด วันนี้(19 มิ.ย.) จังหวัดบุรีรัมย์ สถานการณ์การเกิดโรค “ลัมปี สกีน” ระบาดในโค กระบือ ขณะนี้พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ทั้งจังหวัด 23 อำเภอ ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2564 มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 7,984 ราย มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 22,456 ตัว รักษาสัตว์หายป่วยแล้ว 5,081 ตัว สัตว์ตายรวม 700 ตัว ในพื้นที่ 23 อำเภอ 188 ตำบล ซึ่งปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้ปศุสัตว์แต่ละอำเภอลงพื้นที่สำรวจ และรายงานเข้ามา เพื่อที่จะสรุปข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะจำนวนสัตว์ที่ป่วย หรือเสียชีวิต ในส่วนการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เพื่อป้องกัน ควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่รักษาพยาบาลสัตว์ป่วย การอบรมให้ความรู้เกษตรกร, การจัดกิจกรรม Kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และการฉีดพ่นยากำจัดแมลงพาหะ การสนับสนุนเวชภัณฑ์ สารกำจัดแมลงและอื่นๆ ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในทุกท้องที่ ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศเขตโรคระบาดทั้งจังหวัด ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ ลดการแพร่เชื้อโรค การปิดตลาดนัดโค กระบือ ทั้งนี้ กรณีสัตว์ตาย ให้ดำเนินการรายงานเหตุด่วนสาธารณภัย ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์โดยเร่งด่วน ตรวจสอบความเสียหาย และข้อเท็จจริง แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกประกาศเขตสาธารณภัย หาก อปท. ไม่มีงบประมาณ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ ให้นำเข้าคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) เพื่อพิจารณาประกาศเขตให้ความช่วยเหลือฯ กช.ภอ.รายงานขอความช่วยเหลือต่อ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด(กช.ภจ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศเขตให้ความช่วยเหลือ ฯ คณะกรรมการ กช.ภจ.พิจารณาเสนอกรมปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์เสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ตามความเสียหายไม่เกินเกณฑ์รายละ 2 ตัว ตามราคาชดเชยสัตว์อายุ น้อยกว่า 6 เดือน โคจ่ายเงินเยียวยา 6,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 8,000 บาทต่อตัว จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัวต่อราย, อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา12,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 14,000 บาทต่อตัว, อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 16,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 18,000 บาทต่อตัว, อายุมากกว่า 2 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 20,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 22,000 บาทต่อตัว