เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Suvinai Pornavalai” เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า
สรุป : หากพวกนักการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ วงจรอุบาทว์ทางการเมืองจะกลับมาอีกครั้ง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ (1) ระบอบทักษิณและเครือข่ายจะกลับมาเรืองอำนาจได้จากบัตร 2 ใบ เพราะพวกสส.เขตสามารถทุ่มเงินซื้อเสียงได้ง่าย (2) สภาผัวเมียจะกลับมาอีก ผัวเป็นส.ส. เมียเป็นส.ว. ใช้พวกมากลากไป เป็นเผด็จการรัฐสภา (3) การเกิดการคอรัปชั่นเชิงนโยบายครั้งใหญ่แบบโครงการจำนำข้าวอีกอย่างไม่รู้จบสิ้น การเมืองจะกลับมาเป็นธุรกิจการเมืองที่ต้องถอนทุนคืน (4) ระบบมุ้งการเมือง พวกบ้านใหญ่นามสกุลดังจะกลับมาผูกขาดการเมืองท้องถื่นอย่างถาวร (5) จะได้ส.ส.น้ำเน่า หน้าเดิมๆที่ไร้วิสัยทัศน์กลับมาสภา ทำให้ประเทศถอยหลังลงคลอง ศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ...... ***หลักการและเหตุผล*** การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 : หลักการอยู่ที่ใด? โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย ////// สันดานนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่เคยเปลี่ยน การริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้น เพื่อสนองต่อผลประโยชน์ของ นักการเมืองโดยแท้จริง ส.ส.ทำหน้าที่เป็น ตัวแทน หรือ agent ที่กระทำการแทน เจ้าของ/ประชาชน หรือ principle เพราะไม่สามารถให้ประชากรกว่า 60 ล้านคนมาร่วมใช้สิทธิบริหารประเทศได้โดยตรง แต่ผลประโยชน์ของนักการเมืองเมื่อได้เป็น ส.ส.แล้วอาจกระทำการที่ไม่ตรงกับประโยชน์ที่ประชาชนอยากได้ เฉกเช่นผู้จัดการที่หากไม่ควบคุมก็จะบริหารเพื่อประโยชน์ตนเอง เช่น สร้างอาณาจักรของตนเอง แทนที่จะมุ่งแสวงหากำไรให้อันเป็นประโยชน์กับเจ้าของกิจการที่จ้างผู้จัดการมา วิธีการควบคุมเพื่อให้ตัวแทนมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ใช้กันก็คือ สร้างกฎระเบียบโดยเจ้าของ การแก้กฎระเบียบจึงเป็นเรื่องของเจ้าของ หาใช่ลูกจ้างสะเออะเข้ามาแก้ไขเองโดยพลการไม่ หากปล่อยให้ลูกจ้างจะแก้กฎระเบียบได้เอง จะแก้อะไร ทำเพื่อประโยชน์ใคร ลูกจ้าง หรือ เจ้าของ? ไม่ต้องถามก็รู้คำตอบแล้ว ส.ส.ในขณะนี้ก็เป็นตัวแทนไม่ต่างจากผู้จัดการที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่กฎระเบียบที่ว่านี้ก็คือรัฐธรรมนูญ โดยหลักการแล้ว ส.ส.มีหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ แต่การจะแก้รัฐธรรมนูญให้ตนเองมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น “อำนาจสถาปนา” รัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือกฎหมายอื่นย่อมมิใช่หน้าที่ตัวแทนเช่น ส.ส. หากแต่อยู่กับ ผู้มีอำนาจสถาปนานั่นคือประชาชน ดังนั้นส.ส.ที่อยู่ในสภาจะแก้รัฐธรรมนูญจึงต้องถามเจ้าของ/ประชาชนเสียก่อนว่าจะแก้อะไร ยินยอมให้แก้ไขหรือไม่ ? มิใช่หาช่องที่จะอ้างว่าแก้ไขแต่โดยเนื้อแท้เพื่อล้มล้างสิ่งที่ประชาชนกำหนดให้ปฏิบัติทั้งหมดเอาตามใจชอบ ศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงวินิจฉัยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจนว่า ให้ “ถาม” ก่อนโดยการแสดงประชามติ แต่ก็ยังไม่เข็ดไม่หลาบจำ ทั้งหัวหงอกหัวดำ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเกือบทั้งหมดต่างร่วมใจแก้ไขย่ำยีรัฐธรรมนูญ โดยอ้างประโยชน์ของประชาชน ทำไมเรื่องอื่นจึงไม่สามัคคีเห็นตรงกันเช่นนี้บ้าง? ร่างข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงมีตั้งแต่แก้ไขบางประเด็น เช่น วิธีการเลือกตั้ง จนถึง ล้มล้างแล้วร่างใหม่ทั้งฉบับเหมือนที่ผ่านมา ถามว่ามีความชอบธรรม(legitimacy)ที่จะทำหรือไม่? ก็ต้องบอกว่าไม่มี เหตุก็เพราะในตอนหาเสียงจะมีสักกี่พรรคหาเสียงเพื่อขอฉันทานุมัติว่าจะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญหรือหากจะแก้จะแก้ที่มาตราใด มันไม่ดีตรงที่ใด ผลลัพธ์ผ่านจำนวนส.ส.ที่ได้ ประชาชนเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักการเมืองหล่านั้นเหรือไม่ ? คำตอบก็คือ “ไม่” !!! พรรคที่หาเสียงว่าจะแก้ก็ไม่ได้เสียงข้างมาก จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดสนับสนุนให้ ส.ส.ไปกระทำแม้แต่น้อย แต่พอได้เป็นส.ส.กลับริอ่านที่จะกระทำ เพื่อใครหากไม่ใช่ประโยชน์ของตนเอง? รัฐธรรมนูญปัจจุบันจึงมิใช่ปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง หากแต่นักการเมืองต่างหากที่เป็นปัญหาหลักของบ้านเมืองในปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญนี้จำกัดอำนาจ ส.ส.เอาไว้นั่นเอง พ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศทั้งหลาย ไม่ว่าพวกท่านนิยมสีเสื้อใด พวกท่านต้องรู้ทันพวกนักการเมืองคิดคดเหล่านี้ และจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของพวกเขา ให้มาปล้นอำนาจไปเป็น "สมบัติส่วนตัว" ของพวกตัวเองเป็นอันขาด ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย